นักวิจัยเร่งศึกษาวิจัยรับมือธรณีพิบัติ ย้ำให้ประชาชนเรียนรู้-หาวิธีลดความเสี่ยง
นักวิจัยออกโรงหลังเกิดเหตุธรณีพิโรธภาคเหนือที่แพร่และเชียงใหม่ ย้ำประชาชนต้องพร้อมรับมือแผ่นดินไหวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมเร่งศึกษาวิจัยทั้งสร้างแบบจำลองระบบธรณีแปรสัณฐานของประเทศไทย ศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว และพัฒนาระบบตรวจสอบสมรรถนะของโครงสร้างแบบระยะยาว
หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าเกิดแผ่นดินไหวที่ประชาชนรู้สึกได้อย่างกว้างขวางในภาคเหนือถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ที่ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เมื่อเวลา 01.39 ตามเวลาประเทศไทย และครั้งที่ 2 แผ่นดินไหวขนาด 4.1 เวลา 04.46 ที่ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังตรวจสอบความเสียหายของบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบนั้น
รศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวในจังหวัดแพร่เกิดบริเวณที่มีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังเถินพาดผ่าน ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง เช่น แผ่นดินไหวขนาด 5.0 ที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในปี 2538 และแผ่นดินไหวขนาด 2-3 ในช่วงปี 2560-2562 ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ห่างจากแผ่นดินไหวปัจจุบันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร ส่วนแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดในบริเวณที่มีกลุ่มรอยเลื่อนมีแม่ทาพาดผ่าน ซึ่งมีแผ่นดินไหวมาโดยตลอดโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แผ่นดินไหวครั้งสำคัญมีขนาด 5.1 ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2549 สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง
“แม้ว่าแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งจะเกิดห่างกันเพียง 3 ชั่วโมง แต่ก็มีขนาดไม่ใหญ่และมีระยะทางห่างกันประมาณ 120 กิโลเมตร จึงเชื่อได้ว่าแผ่นดินไหวทั้งสองตัวไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน และแผ่นดินไหวที่จังหวัดแพร่ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เราไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ ประชาชนจึงควรมีความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เรียนรู้ธรรมชาติและความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่อาศัย ปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรงขึ้น หรือทราบวิธีการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจากแผ่นดินไหว ทั้งยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น” รศ. ดร.ภาสกร กล่าว
นักวิจัย กล่าวว่าขณะนี้กำลังดำเนินงานวิจัยโครงการการสร้างแบบจำลองระบบธรณีแปรสัณฐานของประเทศไทย เพื่อประเมินสภาวะความเค้นของธรณีภาคและความเสี่ยงแผ่นดินไหว ภายใต้ชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย และโครงการการศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวของประเทศไทย และการกำหนดตำแหน่งและประเมินผลกระทบของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวในเขตเมืองจากการตรวจวัดแผ่นดินไหว ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และสามารถนำผลการศึกษาเป็นข้อมูลสำคัญในการรับมือและลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่าฝั่งตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมามีรอยเลื่อนที่มีพลังมาก แม้จะสะสมพลังงานช้าแต่มีศักยภาพทำให้สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้สูงถึง 7 ริกเตอร์ คณะวิจัยจึงได้นำข้อมูลมาแปลงเป็นแผนที่เสี่ยงภัยเพื่อหามาตรการรองรับที่เหมาะสม เช่น ออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว จำกัดพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัดตั้งแต่อาคาร 3 ชั้นขึ้นไป บังคับใช้อาคารสาธารณะ อาคารสำคัญ อาคารเก็บวัสดุอันตราย และอาคารทั่วไปที่สูงเกิน 15 เมตร หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2557 ส่งผลให้อาคารถล่มกว่าหมื่นหลังทั้งบ้าน วัด โรงเรียน คณะวิจัยได้เข้าไปเสริมกำลังด้วยโครงสร้างเหล็กให้โรงเรียนนำร่อง 7 โรงเรียน ใช้งบประมาณ 1 ใน 7 ของการสร้างใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งมหาวิทยาลัยนานยาง ประเทศสิงคโปร์ และหน่วยงานของไต้หวัน
ด้าน รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงใหม่มีระยะทางห่างจากอาคารโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมืองประมาณ 15 กิโลเมตรจากการวิเคราะห์สัญญาณการโยกตัวของอาคารที่ตรวจวัดได้จากอุปกรณ์ราคาประหยัด ซึ่งคณะวิจัยได้ติดตั้งไว้ภายในอาคารโรงพยาบาล พบว่าค่าความเร่งที่ตรวจวัดได้บ่งชี้ว่าอาคารมีการสั่นสะเทือนที่มีความรุนแรงพอที่ประชาชนที่อยู่ในอาคารอาจจะรู้สึกการสั่นสะเทือนได้ แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารได้ ทั้งนี้คณะทีมวิจัยพยายามพัฒนาระบบที่สามารถประเมินความปลอดภัยของอาคารสำหรับการให้ข้อมูลผู้ใช้งานอาคารเกิดความมั่นใจ และสามารถใช้งานอาคารได้ทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ภัยแผ่นดินไหว ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโครงการ “การปรับปรุงข้อมูลคุณสมบัติเชิงพลศาสตร์ของอาคาร และการพัฒนาระบบตรวจสอบสมรรถนะของโครงสร้างแบบระยะยาว” ซึ่งมี ศ. ดร.นคร ภู่วโรดม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ