Sunday, November 24, 2024
Latest:
News

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟจัด 4 งานใหญ่ด้านลวด เคเบิล ท่อ และโลหะในไทย คาดมีผู้เข้าชมงาน 6,500 คน

กรุงเทพฯ : บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชียเผยการบริโภคเหล็กกล้าภายในภูมิภาคเอเชีย ในปัจจุบันรวมกว่า 73.3 % คาดอุปสงค์การบริโภคเหล็กกล้าสำเร็จรูปทั่วโลกในปี 2565 เติบโตสูงกว่า 1.77 พันล้านตัน ผลักดันให้ความต้องการใช้ ลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย และโลหะ เพิ่มขึ้น พร้อมชี้โอกาสการเติบโตในอุตสาหกรรมลวดและสายเคเบิลเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 6.1% ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า เดินหน้าเตรียมจัด 4 งานใหญ่ด้านลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย และโลหะในไทย ระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำด้านโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งรถ EV

เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า จากการศึกษาการเติบโตทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนพบว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นแม่เหล็กที่สำคัญในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศมีการลงทุนหลายโครงการทั้งโดยภาครัฐ ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน มีการก่อสร้างหรือพัฒนาส่วนต่าง ๆ ให้มีความใหม่ สมบูรณ์แบบและพร้อมใช้ในช่วงที่เริ่มมีการเปิดประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การขนส่ง พื้นที่เพื่อการลงทุนอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้พลังงานสะอาด และรถ EV อีกทั้งยังมีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก ที่จะร่วมกันยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน
ในภูมิภาคให้มีความทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เล็งเห็นถึงความต้องการใช้ลวด เคเบิล ท่อ และโลหะ พร้อมขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย จึงเดินหน้าเตรียมจัด 4 งานใหญ่ในประเทศไทย ได้แก่ 1.International Wire & Cable Trade Fair for Southeast Asia 2.International Tube & Pipe Trade Fair for Southeast Asia 3. International Foundry Trade Fair and Forum for Southeast Asia (GIFA) และ 4. International Metallurgical Trade Fair and Forum for Southeast Asia (METEC) มหกรรมเทคโนโลยีการผลิตลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย อุตสาหกรรมหล่อโลหะ และโลหะการ ในประเทศไทย ซึ่งจะผนึกพันธมิตรและรวบรวมผู้แสดงสินค้ากว่า 200 รายจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ตลาดเอเชียและอาเซียน มาร่วมแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับกลุ่มภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่กำลังดำเนินงานหรือมีแผนลงทุนเมกะโปรเจกต์ให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ ๆ จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก อาทิ ประเทศในสหภาพยุโรป เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดียและญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวจะช่วยให้ภาคการลงทุนจากต่างประเทศได้เห็นถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ไทยได้วางแผนลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท สร้างงานใหม่ 154,000 คน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไทยมีคำมั่นที่จะมีโครงการเชื่อมจีนและลาวในปี 2026 การก่อสร้างรถไฟทางคู่สาย โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ ECC การก่อสร้างมอเตอร์เวย์เพื่อเชื่อมต่อและรองรับการขยายตัวของเมือง การพัฒนาท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม และโครงการอื่น ๆ ที่กำลังแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานทั้งจากไทยและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 6,500 คน

เกอร์นอท กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 7 ของโลก มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และภายในปี 2030 จะมีสัดส่วนความเป็นเมืองที่สูงถึง 45% ส่งผลให้ความต้องการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย อุตสาหกรรมหล่อโลหะ เติบโตตามไปด้วย โดยมูลค่าตลาดรวมของลวดและสายเคเบิลในประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวนรวมกว่า 55,000 ล้านบาท การเข้ามาของเทคโนโลยี 5 G ทำให้มีการใช้ขดลวดค่อนข้างมาก คาดการณ์ว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 6.1% ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อการพัฒนาระบบระบายน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของตลาดท่อในระดับอาเซียนจะสามารถเติบโตสูงถึง 24,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2028

สำหรับไทยมีการใช้ลวด ท่อ สายเคเบิลและโลหะในอุตสาหกรรม 5 Sector สำคัญ ได้แก่ ก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและบรรจุภัณฑ์

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 2021 ไทยเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ที่เติบโตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยสัดส่วน 18% ในปี 2022 ไทยผลิตรถยนต์ตามเป้าหมาย 1.8 ล้านคัน และส่งออก 1 ล้านคัน ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี 2022 Mercedes จะเปิดตัว EQS พร้อมจัดตั้งไลน์การผลิตในไทย เพื่อให้ไทยเป็น Hub รถ EV และไทยยังถือเป็น 1ใน 7 ประเทศที่ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชาร์จ 1ครั้ง วิ่งได้ 700 กม.

“ที่ผ่านมางาน Wire and Tube Southeast Asia มีสัดส่วนของผู้เข้าร่วมงานในระดับนานาชาติที่สูงมาก ส่วนงาน GIFA และ METEC Southeast Asia จะเพิ่มการให้บริการห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมหล่อโลหะและโลหะการที่ครอบคลุมและกว้างขวางมากขึ้น โดยนำผู้ผลิตระดับโลกสู่เวทีธุรกิจหนึ่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งการจัดงานดังกล่าวจะเป็นการรวมตัวผู้นำด้านการผลิต และผู้ให้บริการที่จะร่วมกันนำเสนอแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมโลหะทั้งในการลดต้นทุน การลดการนำเข้า กรรมวิธีในการผลิตรวมถึงการผลักดันการใช้โลหะที่มีคุณภาพสูงภายในภูมิภาคเพื่อลดการนำเข้าจากภายนอก นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการแบ่งปันแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์โลหะคุณภาพสูง ให้สอดรับกับอุตสาหกรรมปลายทางอื่น ๆ เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อหลีกหนีจากการแข่งขันรูปแบบเดิมดังเช่นในอดีต”เกอร์นอท กล่าว

ด้าน พีระเดช ตรงกิจไพศาล นายกสมาคมอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย กล่าวว่าปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นและจีนเริ่มกลับมาลงทุนด้านอุตสาหกรรมหล่อโลหะในประเทศแถบกลุ่มเอเชียตะวันออกและประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของบ้านเรามีโอกาสเติบโตเพิ่มมากขึ้น แม้อุตสาหกรรมหล่อโลหะเป็นธุรกิจที่มีมาช้านาน แต่ปัจจุบันยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากนักธุรกิจรุ่นใหม่เพราะงานหล่อถือเป็นงานศิลปะ โดยมีทฤษฎี 5M เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ Money คือการมีแหล่งเงินทุนที่เอื้อต่อการใช้งาน Machinery คือการเสาะหาและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่เสมอ Material คือการทำชิ้นส่วนประกอบ Management คือระบบการบริหารจัดการต้องมีการเปลี่ยนและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และ Man คือกำลังคน

สำหรับการจัดงานด้านลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย อุตสาหกรรมหล่อโลหะ ทั้ง 4 งานในไทย เป็นโอกาสอันดีที่จัดขึ้นในไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องเดินทางไปชมความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เยอรมนี โดยสมาคมฯ ได้จัด Thai Pavilion บนพื้นที่ 40 ตรม.เพื่อจัดแสดงสินค้าจากผู้ผลิตไทยด้วย