Monday, November 25, 2024
Latest:
News

บทเรียนกรณีไฟไหม้ Mountain B โดยที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร

ตามที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่า การเผาไหม้ หรือ เพลิงไหม้นั้นเกิดขึ้นได้ จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ แหล่งความร้อน เชื้อเพลิง และออกซิเจน ดังนั้น มาตรการการป้องกันเพลิงลุกไหม้ คือ การควบคุม 3 องค์ประกอบนี้ให้แยกจากกัน

โดยธรรมชาติการเผาไหม้เมื่อไฟจุดติดแล้วจะมอดได้มีอยู่ 2 กรณี กรณีแรกคือเชื้อเพลิงถูกไหม้จนหมด หรือ กรณีที่สอง ออกซิเจนถูกใช้จนหมด ในกรณีหลัง มักเป็นไฟไหม้ในอาคารที่ปิดทึบและขาดการถ่ายเทตามธรรมชาติ แต่อาศัยระบบปรับอากาศซึ่งหยุดทำงานในระหว่างเพลิงไหม้ เมื่อออกซิเจนที่มีอยู่ถูกใช้ในการเผาไหม้จนเหลือจำกัด ไฟก็จะค่อยๆมอดลง แต่ด้วยความร้อนที่เกิดขึ้นจากเชื้อเพลิงที่ไหม้ไปบางส่วนกลับมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีทางระบายจนทำให้เกิดขบวนการที่เรียกว่า ไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนสภาพเชื้อเพลิงด้วยความร้อนโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้ ให้กลายสภาพเป็นถ่าน (Charcoal) น้ำมันดิน (Bio-oil) และก๊าซพิษที่ไม่สามารถควบแน่นได้ (non-condensable gas) ล้วนมีค่าทางความร้อนสูงมากและพร้อมจะเกิดเพลิงไหม้ประทุอย่างรุนแรงทันทีที่มีออกซิเจนกลับเข้ามาใหม่ทางช่องเปิด โดยจะเกิดระเบิดเป็นลูกไฟ (Fireball) พุ่งสวนออกมาในช่องเปิดอย่างรุนแรง

ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้ เรียกว่า Backdraft ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในกรณีเพลิงไหม้ Mountain B Pub ที่สัตหีบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

อาคารผับแห่งนี้ เป็นอาคารที่ปิดทึบและมีวัสดุเชื้อเพลิงมากมาย เช่น วัสดุฝ้าและผนังฟองน้ำรังไข่ซับเสียง ที่แต่เดิมอาคารนี้ได้ขออนุญาตเป็นร้านอาหารเท่านั้น แต่กลับเปลี่ยนเป็นสถานบริการที่เรียกว่า Pub มีการบรรเลงดนตรีที่ส่งเสียงดังมาก จึงใช้วัสดุที่ติดไฟง่ายไปอุดตามช่องว่างต่างๆบริเวณผนัง เพื่อไม่ให้เสียงลอดออกไปได้ ทำให้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

จากการตรวจสอบของ”สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร เชื่อว่า การลุกของไฟในเบื้องต้นอาจเกิดจากประกายความร้อนเนื่องจากไฟฟ้าลัดวงจร เมื่อเกิดเพลิงไหม้ในระยะแรก เพลิงไฟลุกลามอย่างรวดเร็วด้วยเชื้อเพลิงจำนวนมากในอาคาร เมื่อไหม้ไปสักพักหนึ่ง ออกซิเจนในอาคารถูกดึงมาใช้ในการเผาไหม้จนเหลือน้อยลง ไฟก็ค่อยๆมอด ต่อมาเป็นไปได้ว่า หลังคาอาคารทนความร้อนไม่ได้ เกิดทะลุหรือพังทลายลงมา ทำให้เกิดเป็นช่องเปิดนำเอาออกซิเจนเข้ามาเติมในอาคาร เชื้อเพลิงที่อยู่ในสภาพก๊าซพิษหลังไพโรไลซิส เกิดประทุอย่างรุนแรง จนระเบิดเป็นลูกไฟพุ่งออกจากหลังคาอาคารอย่างรวดเร็วและรุนแรงพร้อมด้วยควันดอกเห็ดที่ปรากฏเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ เต็มไปด้วยเขม่าจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อมองจากภายนอก

ปรากฎการณ์ Backdraft นี้จะไม่เกิด ถ้าสถานบริการแห่งนี้ดำเนินการตามกฏหมาย ที่ให้อาคารทึบที่ไม่มีช่องระบายอากาศสู่ภายนอกโดยตรง ต้องมีการติดตั้งระบบควบคุมการแพร่กระจายของควัน เช่น พัดลมสำหรับดูดควันไฟออกจากพื้นที่ในขณะเกิดเพลิงไหม้ สายไฟฟ้าของระบบควบคุมการแพร่กระจายของควันจะต้องเป็นชนิดทนไฟได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงตามมาตรฐาน

บทสรุปเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้นับว่าเป็นบทเรียนที่ชัดเจนมากสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม “หลักการพื้นฐานของการบริหารความปลอดภัยจากอัคคีภัย” ทุกขั้นตอน ซึ่งผมพอสรุปให้เข้าใจง่ายๆดังนี้ 1) ขั้นตอนการป้องกันเพลิงไหม้ มาตรการ คือ การแยกเชื้อเพลิงออกจากแหล่งความร้อน กรณีอาคารประเภทที่มีกิจกรรมชุมชน และไม่สามารถควบคุมแหล่งความร้อนได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงคือ การงดใช้วัสดุ (เชื้อเพลิง) ที่ติดไฟได้ ตามกฎหมายที่กำหนดไว้แล้วว่า “อาคารสถานบริการจะต้องใช้วัสดุตกแต่งภายในและผนังกันเสียงที่ไม่ติดไฟ” นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้าต้องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติทันที เมื่อมีไฟฟ้ารั่ว เพื่อกันประกายความร้อน

2) ระบบป้องกันไฟลาม ทันทีที่เกิดเหตุไฟลุก อาคารจะต้องจัดให้มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองทันที โดยครอบคลุมพื้นที่สถานบริการทั้งหมด อีกทั้งต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงตามจุดต่างๆ ทั้งนี้เพื่อจำกัดพื้นที่การลามของเพลิงไหม้

3) ระบบช่วยชีวิตคนในอาคาร สถานบริการที่มีการชุมนุมคนลักษณะนี้ จะต้องมีระบบส่งสัญญาณเตือนเหตุเพลิงไหม้ และระบบแสงสว่างฉุกเฉิน ที่สำคัญที่สุดคือ ช่องทางหนีไฟออกสู่นอกอาคารต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ที่กำหนดให้ ผู้ติดอยู่ในอาคารในขณะเพลิงไหม้สามารถออกสู่นอกอาคารได้ภายใน 3 นาที

สำหรับสถานบริการ Mountain B แห่งนี้ คำนวณไว้ว่าสามารถบรรจุผู้ใช้บริการได้ราว 200-400 คน ดังนั้นช่องทางออกจะต้องมีไม่น้อยกว่า 3 ประตู แต่ละประตูต้องกว้างอย่างน้อย 3 เมตร

สุดท้าย ผมขออนุญาตให้คำแนะนำผู้ที่จะไปใช้สถานบริการและแหล่งบันเทิงประเภทชุมนุมคนในอาคารต่างๆที่ปิดล้อมทึบเช่นนี้ว่า สิ่งแรกที่ท่านควรจะทำ คือ การสำรวจทางเข้าทางออกของอาคารว่ามีกี่ช่องทาง และลองซ้อมว่า ถ้าเกิดเพลิงไหม้และท่านจะต้องหนีไฟออกในแต่ละช่องทาง ท่ามกลางความมืดและความชุลมุนนั้น ท่านสามารถนำตัวท่านออกจากอาคารได้ภายใน 3 นาทีตามมาตรฐานได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ ท่านไม่ควรใช้บริการ และควรออกจากสถานบริการและแหล่งบันเทิงนั้นทันที

โดย

ศ.ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร

หมายเหตุ : สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร เดิมใช้ชื่อว่า ชมรมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร ซึ่งผมและกรรมการในคณะกรรมการอัคคีภัยของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ก่อตั้งขึ้น โดยเริ่มจากการสรุปบทเรียนเหตุการณ์เพลิงไหม้ใหญ่ในประเทศไทยสองครั้ง ได้แก่ ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2536 และโรงแรงรอยัลจอมเทียนเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซี่งทั้งสองเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้ทำเรื่องเสนอต่อรัฐบาลผ่านคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ซึ่งผมเป็นประธานอนุกรรมการป้องกันอัคคีภ้ยในอาคารในขณะนั้น หลังจากผลักดันให้มีการออกกฎหมายการตรวจสอบอาคารในปี 2540 แล้ว ก็ได้มีการจัดฝึกอบรมผู้ตรวจสอบอาคาร โดยมี คุณพิชญะ จันทรานุวัฒน์ เป็นหัวเรือใหญ่ จนเติบโตจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้ทางด้านงานตรวจอาคาร ตรวจพลังงาน ด้านไฟฟ้า ด้านงานวิศกวรรม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างบรรทัดฐาน ส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับกฎหมายการตรวจสอบอาคารให้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัยอาคารในประเทศไทยให้เทียบเท่าสากล