ซีแพค กรีน โซลูชัน นำนวัตกรรม “CPAC ULTRACRETE SOLUTION” สร้างสะพานคอนกรีตบางที่สุดแห่งแรกในไทย
ซีแพค กรีน โซลูชัน โชว์เคส “สะพานเฉลิมพระเกียรติ” สะพานที่บางที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย และอาเซียน ชูความโดดเด่นด้านนวัตกรรม “CPAC ULTRACRETE SOLUTION” ที่ใช้เทคโนโลยี UHPC (Ultra High Performance Concrete) ด้วยการออกแบบโครงสร้างและใช้วัสดุคอนกรีตสมรรถนะสูง ซึ่งเป็นเทรนด์การก่อสร้างสะพานยุคใหม่ของโลก คาดจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สามารถพลิกโฉมและยกระดับวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยสู่ระดับสากล ที่สำคัญยังคงยึดหลักกลยุทธ์ Green Construction หรือการก่อสร้างสีเขียว ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon Construction เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการก่อสร้างเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า ซีแพค กรีน โซลูชัน ได้ร่วมก่อสร้าง ‘สะพานเฉลิมพระเกียรติ’ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างลานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับถนนภายในบริเวณสำนักงานใหญ่เอสซีจี บางซื่อ การก่อสร้างครั้งนี้ยังคงเป็นไปตามหลักGreen Construction หรือการก่อสร้างสีเขียว โดยใช้ระบบ Prefabrication และเทคโนโลยีดิจิทัล จึงช่วยลดจำนวนคน ลดเวลาการทำงาน ควบคุมงบประมาณได้
สำหรับโซลูชันหลักที่นำเข้ามาในงานนี้คือ CPAC ULTRACRETE SOLUTION โดยใช้เทคโนโลยี UHPC (Ultra High Performance Concrete) ซึ่งเป็นคอนกรีตสมรรถนะสูงร่วมกับเทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างแบบใหม่ ทำให้สามารถลดขนาดโครงสร้าง เหมาะสำหรับการใช้งานก่อสร้างโครงสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักสูง และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นไปตามแนวทางด้าน Low Carbon Construction
“ความพิเศษของการนำเทคโนโลยี UHPC (Ultra High Performance Concrete) มาใช้ เพราะสามารถนำมา ปิดจุดอ่อนของเทคโนโลยีแบบเดิมได้ เนื่องจาก UHPC ใช้แรงอัดได้มากกว่าคอนกรีตทั่วไปถึง 5 เท่า และยังรับแรงดึง ได้เสมือนเหล็ก โดยเรามีวิธีการจัดการเรื่องการบ่ม ที่เป็นระบบบ่มไอน้ำ เพื่อให้การพัฒนากำลังอัดเพิ่มขึ้นได้เร็ว นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยังช่วยลดขนาดหน้าตัดของโครงสร้างสะพานบางลงได้ไม่น้อยกว่า 30% ช่วยให้ การทำงานรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมรวมถึงลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดกระบวนการก่อสร้างได้มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับการก่อสร้างในไซต์งานปกติ และอีกหนึ่งคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่นคือ เบา ทนทาน และงดงาม”ชนะ กล่าว
สำหรับ “สะพานเฉลิมพระเกียรติ” มีความยาว 30 เมตร ใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 9 เดือน โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคม 2564 แล้วเสร็จเดือนกันยายน 2564 โครงสร้างของสะพานเป็นการวางฐานราก 2 ฝั่ง โดยไม่มีเสาค้ำกลางน้ำหรือเสาคานกลางสะพาน และด้วยนวัตกรรมคอนกรีตดังกล่าวที่ไม่ต้องเสริมเหล็ก ทำให้ตัวสะพานมีความ บางมาก โดยคานสะพานช่วงที่บางที่สุดหนาเพียง 30 เซนติเมตร ส่วนพื้นของสะพานเฉพาะงานโครงสร้างไม่รวม งานสถาปัตย์หนาเพียง 2.5 เซนติเมตร ซึ่งนับเป็นที่แรกในประเทศไทย ทั้งนี้การออกแบบและการผลิตดำเนินการภายในประเทศทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ยังใช้ระบบ Digitization จัดการและบริหารการก่อสร้างด้วย CPAC BIM ที่นำข้อมูลการก่อสร้างใส่ไว้ในรูปแบบโมเดล 3 มิติ ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง ตลอดจนการจัดการหลังการก่อสร้าง และ CPAC Drone Solution โดรนบินสำรวจและติดตามความคืบหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยนวัตกรรมทั้งหมดช่วยให้การก่อสร้างได้เร็วกว่าแผน 15% ลดของเสียจากงานก่อสร้างได้ 10% และใช้แรงงานเพียงครึ่งหนึ่งของการก่อสร้างปกติ
“สะพานเฉลิมพระเกียรติ นับเป็นแลนด์มาร์คในแง่ของการก่อสร้างอีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีการก่อสร้าง สามารถเข้ามาเยี่ยมชมและปรึกษาเรื่องเทคโนโลยีการก่อสร้าง เพราะถือเป็นสะพานแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้วัสดุที่มีความพิเศษ และใช้นวัตกรรมการก่อสร้างสมัยใหม่ที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยสู่ความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจี (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส) ซึ่งจะทำให้วงการก่อสร้างของประเทศไทยสามารถทัดเทียมในระดับสากล” ชนะ กล่าวทิ้งท้าย