นายกฯ เปิดท่าเรือ “ท่าช้าง – สาทร” เชื่อมขนส่งทางน้ำ ยกระดับมาตรฐานการเดินทางแบบไร้รอยต่อ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด ท่าเรือท่าช้าง – สาทร “SMART PIER SMART CONNECTION” เพื่อยกระดับมาตราฐานการให้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่ง ล้อ ราง เรือ ลดปัญหาการคับคั่งของการจราจร ร่นระยะเวลาในการเดินทาง สร้างภาพลักษณ์การเดินทางของประเทศ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้แนวคิด “ท่าเรือ ที่เป็นมากกว่าท่าเรือ” โดยมีพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท พิชิต หุ่นศิริ ผู้อำนวยการสำนักบำรุงทาง และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม ร่วมในพิธี
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่าท่าเรือท่าช้าง – สาทร “SMART PIER SMART CONNECTION” ช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการการเดินทางน้ำด้วยเรือโดยสาร สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่ง ล้อ ราง เรือ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีความก้าวหน้าและทันสมัยจากระบบการเดินทางตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทาง สร้างภาพลักษณ์การเดินทางของประเทศ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภายใต้แนวคิด “ท่าเรือ ที่เป็นมากกว่าท่าเรือ” โดยจะสร้างให้ครบ 29 ท่าเรือตามแผนการดำเนินการจากนี้
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 พร้อมทั้งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก น้ำ ราง อากาศ ให้มีความเชื่อมโยง สะดวก ปลอดภัย สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ จท. มีภารกิจในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ได้กำหนดแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 – 2567 ที่จะพัฒนาท่าเรือ จำนวน 29 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้มีรูปลักษณ์ที่สวยงามตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มีระบบการให้บริการที่ทันสมัย
นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้มีเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งมีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างรายได้ให้กับประเทศ และเมื่อพัฒนาท่าเรือแล้วเสร็จตามแผน จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 53,000 คนต่อวัน ในปี พ.ศ.2570
สำหรับสถานีท่าเรือสาทร เป็นสถานีเรือที่เชื่อมต่อระบบ ล้อ ราง เรือ และสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม สะพานตากสิน บริการทั้ง เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า MINE SMART FERRY เรือท่องเที่ยว เรือภัตตาคาร และเรือข้ามฟากไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำอื่น ๆ อีกทั้งเป็นหนึ่งใน 29 ท่าเรือที่ถูกพัฒนายกระดับมาตรฐานและความปลอดภัย โดยกรมเจ้าท่า ให้เป็น SMART PIER ที่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ ออกแบบอ้างอิงตามอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมตามสมัยรองรับการใช้ชีวิตแบบวิถีชีวิตใหม่ (NEW NORMAL) กับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยคือ AI มาใช้ในการควบคุมและบริการจัดการเรือ ระบบการควบคุมการจราจรทางน้ำ ระบบการบริหารจัดการข้อมูล ระบบเชื่อมโยงโครงข่ายของอุปกรณ์และระบบ ควบคุม ระบบตั๋วและเครื่องตรวจสัมภาระ เครื่องวัดอุณหภูมิ บริการเครื่องชาร์ตแบตเตอรี่มือถือ และระบบวงจร ปิด CCTV
นอกจากนี้ เพื่อสร้างทางเลือกการเดินทางประชาชน ตามแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวจะพัฒนารูปลักษณ์ท่าเรือให้มีความสวยงามตามอัตลักษณ์ เกิดเป็น Landmark ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมและให้บริการบนท่าเรือและเรือ
สำหรับการพัฒนาท่าเรือที่มีต้นทางจากท่าเรือสาทรไปยังปลายทางที่ท่าเรือปากเกร็ดมีจำนวนทั้งสิ้น 29 ท่าเรือ ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ 2562 จำนวน 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ และท่าเรือนนทบุรี แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 จำนวน 1 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือท่าช้าง แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.2565 จำนวน 1 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือสาทร อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2565 จำนวน 6 ท่าเรือ ขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ.2566 จำนวน 8 ท่าเรือ
นอกจากนี้ยังมีแผนของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 10 ท่าเรือ พร้อมแผนติดตั้งระบบให้บริการบนท่าเรือทั้ง 29 ท่าเรือ ในปี พ.ศ. 2566 – 2567 ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ร่วมกับผู้ประกอบการเรือโดยสารปรับเปลี่ยนมาใช้เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในการให้บริการ เพื่อลดมลพิษ และลดปริมาณการใช้น้ำมัน
อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า การปรับปรุงท่าเรือทั้ง 2 ท่า ได้แก่ ท่าเรือท่าช้าง มีขนาดพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่ การปรับปรุงออกเป็น 1.อาคารศาลาพักคอยขนาดพื้นที่ 320 ตารางเมตร จำนวน 2 หลัง 2.โป๊ะเทียบเรือ ขนาด 5 x 10 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 2 โป๊ะ 3.โป๊ะเทียบเรือขนาด 6 x 12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 4 โป๊ะ ภายหลังการเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ท่าเรือท่าช้าง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางสัญจรทางน้ำได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัยตามมาตรฐานที่กรมเจ้าท่ากำหนดไว้
ในส่วนของท่าเรือสาทร เป็นท่าเรือที่มีทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก ก่อนทำการปรับปรุง เดิมท่าเรือสาทรมีสภาพชำรุด ทรุดโทรมตามระยะเวลาและการใช้งาน พื้นที่ใช้สอยยังไม่เป็นสัดส่วน ทำให้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการมีความแออัดเบียดเสียดบนท่าเรือ ซึ่งอัตราผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าเรือสาทรในปี พ.ศ.2563 เฉลี่ยต่อวัน 15,236 คน ซึ่งกรมเจ้าท่าเล็งเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกและความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร จึงได้ทำการปรับปรุงท่าเรือฯ ดังนี้ ปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือขนาด 1,364 ตารางเมตร โป๊ะขนาด 6 x 12 เมตร จำนวน 4 โป๊ะ และโป๊ะขนาด 9 x 17 เมตร จำนวน 1 โป๊ะ
ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างทางลาดด้านหน้าท่าเรือและปรับปรุงโป๊ะขนาด 6 x 12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 2 โป๊ะ เพื่อให้สะดวกและสามารถรองรับการเดินทางทางน้ำของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น