ทช. ซ่อมบำรุงสะพานท่าเทียบเรือ อ.เกาะกูด จ.ตราด ให้ประชาชนใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซ่อมบำรุงสะพานท่าเทียบเรือ อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด โดยใช้โครงสร้างหล่อสำเร็จรูปและคอนกรีตชนิดป้องกันน้ำเค็ม เพิ่มความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้ประชาชนใช้งานได้อย่างสะดวกปลอดภัย ส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งและท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คาดแล้วเสร็จต้นปี พ.ศ. 2566
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินงานซ่อมบำรุงสะพานท่าเทียบเรือ (ตร.001) อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับสะพาน เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนให้มีความสะดวกปลอดภัย ส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งและการท่องเที่ยวบนเกาะกูดอย่างยั่งยืน
สำหรับสะพานท่าเทียบเรือ (ตร.001) เป็นจุดจอดสำหรับเรือลำเลียงสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค ขนส่งวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้ในเกาะกูด และเป็นจุดที่เรือชาวประมงจอดเทียบใช้ในการหลบพายุในช่วงมรสุม ตลอดจนเป็นจุดจอดเรือรบของกองทัพเรือ ตั้งอยู่บริเวณบ้านอ่าวใหญ่ ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ต่อเชื่อมกับจุดสิ้นสุดบนถนนทางหลวงชนบทสาย ตร.6042 บ้านอ่าวสลัด – บ้านอ่าวใหญ่ ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เป็นพื้นที่ติดชายทะเล โครงสร้างมีการสัมผัสน้ำทะเลตลอดเวลา ทำให้โครงสร้างพื้นเสาและคานของสะพานท่าเทียบเรือได้รับความเสียหาย เกิดสนิมบริเวณเหล็กเสริม ส่งผลให้เกิดการกะเทาะหลุดล่อนของคอนกรีตตลอดชิ้นส่วนของโครงสร้างสะพาน
ทช. จึงได้ดำเนินการซ่อมบำรุงสะพานท่าเทียบเรือฯ โดยคำนึงถึงความแข็งแรงและความคงทนของโครงสร้างต่อสภาวะน้ำเค็ม เน้นวิธีการซ่อมบำรุงที่รวดเร็วอย่างมีคุณภาพ ลดผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ซึ่งตัวสะพานจะมีลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ความกว้างช่วงยาวช่วงละ 5 เมตร ความกว้างช่วงสั้น 2.5 เมตร รวมความยาวสะพาน 100 เมตร โดย ทช. จะทำการซ่อมแซมด้วยการทดแทนโครงสร้างเดิมด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูปเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างโครงสร้างหล่อในที่ ช่วยลดความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมบริเวณสถานที่ก่อสร้าง เช่น พายุฝน สภาวะน้ำขึ้น-น้ำลงลดระยะเวลาการก่อสร้าง ทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตให้เป็นไป ตามมาตรฐาน นอกจากนี้คอนกรีตที่ใช้ในการหล่อโครงสร้างเป็นคอนกรีตชนิดป้องกันน้ำเค็ม มีความหนาแน่นสูง เพื่อป้องกันการซึมน้ำของคลอไรด์ โดยเหล็กเสริมที่ใช้จะทำการชุบด้วยสังกะสีป้องกันการเกิดสนิม และผิวคอนกรีตโครงสร้างจะเคลือบด้วยน้ำยาป้องกันการซึมผ่านของน้ำทะเล ทำให้ผิวคอนกรีตมีสภาพทึบน้ำ น้ำทะเลไม่สามารถซึมผ่านเข้าสู่เนื้อคอนกรีตและเหล็กเสริมได้
นอกจากตัวโครงสร้างสะพานแล้ว ยังมีงานก่อสร้างส่วนประกอบของท่าเทียบเรือเพิ่มเติม ได้แก่ งานก่อสร้างบันไดเทียบ สำหรับเรือเล็ก 2 แห่ง การติดตั้งยางกันกระแทก พร้อมหลักผูกเรือ ป้ายสะพาน การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างบนสะพาน/ถนนต่อเชื่อม และปรับปรุงถนนเชิงลาด ถนนต่อเชื่อมสะพาน อีกด้วย ปัจจุบันการซ่อมบำรุงสะพานท่าเทียบเรือมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 10 ขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อโครงสร้างเดิมและประกอบโครงสร้างเสาคาน ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมกราคม พ.ศ.2566