Monday, November 25, 2024
Latest:
News

สภาวิศวกร แนะตรวจสอบ 3 จุดเปราะบาง กรณีเพลิงไหม้เมเจอร์ เอกมัย พร้อมตรวจเช็คระบบป้องกันอัคคีภัย – ระบายควันไฟ กันเกิดเหตุซ้ำ

กรุงเทพฯ : สภาวิศวกร ย้ำหน่วยงานตรวจสอบ 3 จุดเปราะบางภายในโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 61 ได้แก่ 1. กำลังคอนกรีต 2. พื้น และ 3. กำลังการรับน้ำหนักบรรทุกของพื้น หลังเกิดเพลิงไหม้เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จากการตรวจสอบพบเกิดเหตุบริเวณชั้น 3 ก่อนลามขึ้นชั้น 4 ครอบคลุมพื้นที่เสียหายกว่า 60 ตร.ม. โดยไม่พบผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต พร้อมแนะทบทวนการติดตั้ง “ระบบป้องกันอัคคีภัยและระบายควันไฟ” ทั้งหมดให้อยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการใช้งาน มีการติดตั้งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า หรือมีการกีดขวาง (Obstruction) ของระบบดังกล่าวหรือไม่ และควรทบทวนเรื่องการระบายควันไฟภายในอาคาร เพื่อป้องกันการเกิดเหตุเพลิงไหม้ซ้ำและลดผลกระทบต่อความเสียหายจากไฟและควัน

บุษกร แสนสุข ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย สภาวิศวกร เปิดเผยว่า สภาวิศวกร โดยคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย พร้อมด้วยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายเชิงโครงสร้าง กรณีเพลิงไหม้ภายในโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 61 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นั้น ทางชุดปฏิบัติการภายในอาคาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยคลองเตย ได้เข้าดำเนินการระงับเหตุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และไม่พบผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยเบื้องต้นจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ระบุพบ ต้นเพลิงลุกไหม้บริเวณเคาน์เตอร์จำหน่ายอาหาร ชั้น 3 ก่อนจะลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและชั้นที่ 4 ผ่านช่องทางบันไดและบริเวณบันไดเลื่อน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เสียหายกว่า 60 ตารางเมตร (ข้อมูล: ศูนย์วิทยุพระราม 199 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพฯ)

สำหรับการประเมินความเสียหายในวันนี้พบว่า อาคารได้รับความเสียหายทางด้านโครงสร้างไม่มากนักและจำกัดพื้นที่ความเสียหายบริเวณเบย์เดียวของเสาประมาณ 8 x 8 เมตร ซึ่งอาจจะทำให้โครงสร้างบริเวณพื้นชั้น 4 ที่อยู่เหนือพื้นชั้น 3 ขึ้นไปกับเสาที่เป็นคอด้านบนได้รับผลกระทบ ดังนั้น ควรมีการตรวจสอบดูให้แน่ชัดว่า คอนกรีตบริเวณดังกล่าวมีความแข็งแรงที่เพียงพอหรือไม่

ถึงแม้กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น แต่ในฐานะ “คณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย” เห็นควรให้มีการตรวจสอบตามหลักวิศวกรรมใน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1.ตรวจสอบกำลังคอนกรีต ผ่านการตรวจสอบเหล็กบางตัวที่สามารถเก็บเป็นตัวอย่างทดสอบแรงดึงได้ 2.ตรวจสอบพื้น เนื่องจากโดยปกติ กรณีที่พื้นโดนเพลิงไหม้เป็นระยะเวลานานจะมีการแอ่นตัว แต่ทั้งนี้ แม้กรณีที่เกิดขึ้นจะใช้ระยะเวลาอันสั้นก็ขอเสนอให้มีการตรวจสอบ และ 3.ตรวจกำลังการรับน้ำหนักบรรทุกของพื้น เพื่อทดสอบความแข็งแรงเชิงโครงสร้างในการรองรับน้ำหนัก

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการตรวจสอบจะมีการกำกับดูแลจากวุฒิวิศวกรเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลของอาคารได้มีการเตรียมตัว รองรับการตรวจสอบจากสถาบันที่เชื่อถือได้เรียบร้อยแล้ว

“ในกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว จะเป็นความรับผิดชอบของทางผู้ดูแลอาคารหรือทางสำนักการโยธา กทม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจดูผลทดสอบ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบประมาณ 3 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นพื้นที่จำกัด ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน สภาวิศวกร ขอแนะนำว่า ควรปิดเพื่อดำเนินการปรับปรุงสถานที่ หรือ มีคำสั่งห้ามใช้พื้นที่เบื้องต้น 30 วัน แต่ทั้งนี้ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถานประกอบการ รวมถึงการออกคำสั่งจากทางเขต กทม. เป็นสำคัญ ซึ่ง ในนามสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมให้การช่วยเหลือและให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่” ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย สภาวิศวกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีดังกล่าวในด้านวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย อาคารแห่งนี้แม้ได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้างน้อย แต่กลับพบว่าเกิดควันค่อนข้างมากจากการที่วัสดุต่างๆ ถูกเพลิงไหม้เสียหาย อีกทั้งกลุ่มควันยังแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ ผ่านช่องเปิดทางบันไดสัญจรและบันไดเลื่อนและผ่านทางฝ้าเพดานไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

ดังนั้น นอกเหนือจากการตรวจสอบข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องทบทวนเพิ่มเติมคือ ในการปรับปรุงแก้ไขต้องทบทวนการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยทั้งหมดให้เป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากอาคารถูกใช้งานมาระยะหนึ่งอาจมีการปรับปรุงทั้งตำแหน่งผนังและเพดาน ซึ่งตำแหน่งติดตั้งอาจต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานปัจจุบัน มีการติดตั้งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งมีการกีดขวาง (Obstruction) ระบบดังกล่าวหรือไม่ รวมไปถึงต้องตรวจสอบสภาพของระบบและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการใช้งาน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุเพลิงไหม้ซ้ำ

“ระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคาร จะต้องมีการทำงานตอบสนองต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้และยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ อาทิ หัวกระจายน้ำดับเพลิง (Sprinkler) แต่ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มเติมคือ กรณีการลามไฟอาจเป็นปัจจัยของช่องเปิดในแนวดิ่ง เช่น โถงกลางอาคาร โถงบันไดเลื่อน ซึ่งนั้นเป็นปกติอยู่แล้วกรณีเกิดเพลิงไหม้ ไฟก็จะสามารถลามขึ้นไปได้ ควรต้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในประเด็นนี้ด้วย” บุษกร
กล่าวทิ้งท้าย