Monday, November 25, 2024
Latest:
News

สภาวิศวกร ชี้ท่อส่งน้ำรั่วกระทบฐานราก ทำ“สะพานข้ามคลองเคล็ด” ทรุด นำทีม วสท. – วิศวกรอาสา ลงพื้นที่สำรวจ 28 ก.พ. นี้

กรุงเทพฯ – 27 กุมภาพันธ์ 2565 : สภาวิศวกร ระบุเหตุการณ์กรณี สะพานข้ามคลองเคล็ด บริเวณถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 53 ทรุดตัว เกิดจากท่อส่งน้ำรั่วกระทบฐานรากสะพาน โดยสำรวจพบความเสียหาย 4 จุด ได้แก่ สะพานข้ามคลองเคล็ด ฐานรับท่อประปา พื้นถนน และบ้าน/อาคารที่อยู่อาศัย โดยล่าสุด ผู้รับจ้างได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวใน 2 ขั้นตอนดังนี้ 1. หยุดความเสียหาย โดยการทิ้งกระสอบทรายเพื่อชะลอการรั่วไหลของน้ำ และ 2. คืนสภาพการจราจรชั่วคราว ด้วยการก่อสร้างสะพานชั่วคราว Temporary Bridge สำหรับวิ่ง 2 เลน ในขนาดความกว้างที่ 7 เมตร ยาว 60 เมตรโดยประมาณ และจำกัดวิ่งเฉพาะรถ 4 ล้อเท่านั้น ทั้งนี้ สภาวิศวกรพร้อมด้วยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และวิศวกรอาสาที่มีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างสะพาน เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของโครงสร้างอาคารและบ้านเรือนข้างเคียงที่อาจจะได้รับผลกระทบในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

รศ. เอนก ศิริพานิชกร รองประธานอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ สภาวิศวกร เปิดเผยว่า ตามที่สภาวิศวกรได้รับแจ้งเหตุความสาเหตุความเสียหายจากการทรุดตัวของพื้นดินบริเวณโดยรอบ โครงสร้างฐานรับท่อประปา และสะพานข้ามคลองเคล็ด บริเวณถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 53 ซึ่งเกิดจากปัญหาน้ำรั่วเข้าปล่องอุโมงค์ระบายน้ำของโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยพบความเสียหายใน 4 จุดได้แก่ 1. สะพานข้ามคลองเคล็ดเสาเข็ม/โครงสร้างเกิดการทรุดตัว 2. ฐานรับท่อประปา ฐานรองรับเกิดการทรุดตัว ท่อประปาแตกเสียหาย 3. พื้นถนน เกิดการทรุดตัวเสียหาย และ 4. บ้านและอาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง

อย่างไรก็ดี ภายหลังเกิดเหตุทางผู้รับจ้างได้ส่งทีมงานเข้าดูแลและช่วยเหลือกับผู้เสียหายทุกรายในทันที นอกจากนี้ ทางผู้รับจ้างยังได้เสนอแนวทางเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้

  1. ดำเนินงานเพื่อหยุดความเสียหาย (Balance Water Pressure) จากดินโดยรอบทรุดตัว เนื่องจากสภาพภายในพบดินทะลักเข้ามาภายใน และมีจุดที่น้ำรั่ว มีการดำเนินการใน 4 ขั้นตอน ดังนี้
    1. ทิ้งกระสอบทรายภายในปล่อง Shaft S4 เพื่อกั้นทางการไหลของน้ำ รวมทั้งการปรับปรุงสภาพภายในให้มีความแข็งแรง และทำการเติมน้ำในปล่อง
    2. ปล่อง Shaft S2 จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำลงภายในปล่อง โดยจะเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ที่ Shaft S1 เพิ่มเติม
    3. ทิ้งกระสอบทรายภายในปล่อง Shaft S3 เพื่อชะลอการรั่วไหลของน้ำ โดยวัดระดับน้ำที่ Shaft S4
    4. ทำการสูบน้ำลงใน Shaft S2 และ Shaft S1 ให้ระดับน้ำภายในอุโมงค์ เท่ากับระดับน้ำใต้ดิน โดยวัดระดับน้ำที่ Shaft S4

สำหรับมาตรการการเฝ้าระวังและการตรวจสอบ สามารถทำได้โดย ตรวจวัดการทรุดตัวของอาคารบริเวณโดยรอบและพื้นถนน และตรวจสอบระดับน้ำที่ Shaft S4 ระหว่างการทำการเติมน้ำจากปล่อง S2 และ S1

  1. ดำเนินงานคืนสภาพการจราจรชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบการจราจรให้กับผู้อยู่อาศัยในบริเวณที่ได้รับความเสียหายและบริเวณข้างเคียง ผ่านการดำเนินงานใน 3 ขั้นตอนดังนี้ 1.) รื้อถอนโครงสร้างสะพานที่เสียหาย 2.) ก่อสร้างสะพานชั่วคราว (Temporary Bridge)เพื่อคืนสภาพการจราจร 2 เลน ความกว้าง 7 เมตร ยาว 60 เมตรโดยประมาณโดยจำกัดวิ่งเฉพาะรถ 4 ล้อ เท่านั้น และ 3.) จัดทีมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่จราจรอำนวยความสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ มาตรการการเฝ้าระวังและการตรวจสอบคือตรวจสอบสภาพพื้นที่การยืนเครื่องจักรขณะรื้อถอนสะพานที่เสียหาย

“อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการซ่อมแซมของผู้รับจ้างวานนี้ (26 กุมภาพันธ์) นับตั้งแต่เวลา 17.00 – 04.00 น. พบว่า ระดับการทรุดตัวของดินมีการยึดตัวติดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 14.00 น. สภาวิศวกร นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ รองเลขาธิการสภาวิศวกร พร้อมด้วยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

โดย ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. และวิศวกรอาสาที่มีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างสะพาน เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของโครงสร้างอาคารและบ้านเรือนข้างเคียงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของดินฐานรากบริเวณอื่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประชาชนในบริเวณดังกล่าว รศ. เอนก กล่าวทิ้งท้าย