ทช. สำรวจออกแบบพัฒนาเส้นทางสาย บก.4011 จ.บึงกาฬ หนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการสำรวจออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ พร้อมจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมถนนทางหลวงชนบทสาย บก.4011 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2026 – บ้านต้อง อำเภอบึงโขงหลงและเซกา จังหวัดบึงกาฬ เพื่อพัฒนาโครงข่ายสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวภายในจังหวัดและภูมิภาค ยกระดับมาตรฐานเส้นทางการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย สู่มิติใหม่ของการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ ปี พ.ศ. 2562 ทช. ได้ดำเนินโครงการสำรวจออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนทางหลวงชนบทสาย บก.3009 อำเภอเมือง อำเภอเซกาและบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดบึงกาฬ เช่น ภูทอก น้ำตกเจ็ดสี และหาดคำสมบูรณ์ แต่เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้นจากการท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่งผลผลิตทางการเกษตรบริเวณบึงโขงหลง จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อรองรับการเดินทางในอนาคต ดังนั้น ทช. จึงดำเนินโครงการสำรวจออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนทางหลวงชนบทสาย บก.4011 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2026 – บ้านต้อง อำเภอบึงโขงหลง และเซกา จังหวัดบึงกาฬ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางการท่องเที่ยวให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สนับสนุนการคมนาคมขนส่งของประชาชนรอบบึงโขงหลงให้มีความสะดวกปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนการขยายตัวด้านการค้า การลงทุน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง
สำหรับโครงการสำรวจออกแบบถนนทางหลวงชนบทสาย บก.4011 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2026 – บ้านต้อง อำเภอบึงโขงหลงและเซกา จังหวัดบึงกาฬ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณจุดเชื่อมกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2026 และสิ้นสุดโครงการบริเวณจุดเชื่อมกับถนนทางหลวงชนบทสาย บก.3009 (ช่วง กม. ที่ 30+240) รวมระยะทาง 17.688 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่การศึกษาครอบคลุม 4 ตำบล ในอำเภอบึงโขงหลงและอำเภอเซกา ได้แก่ ตำบลบึงโขงหลง โพธิ์หมากแข้ง บ้านต้อง และโสกก่าม อีกทั้งได้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ถนนทางหลวงชนบทสาย บก.4011 และถนนทางหลวงชนบทสาย บก.3009 (ช่วง กม. ที่ 30+000 – 46+026) นอกจากนี้ในส่วนของการพัฒนาเส้นทาง ได้ออกแบบถนนเป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีตขนาด 2 ช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 0 – 2.50 เมตร ปรับปรุงทางแยก จำนวน 7 แห่ง และปรับปรุงจุดชมวิวให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินการสำรวจออกแบบแล้วเสร็จ เตรียมพร้อมจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อจัดตั้งงบประมาณสำหรับการก่อสร้างในลำดับต่อไป