ทล. ขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 332 แยกเจ- อู่ตะเภา จ.ชลบุรี แล้วเสร็จตลอดสาย เพิ่มประสิทธิภาพคมนาคมโลจิสติกส์ภาคตะวันออก รองรับ EEC
กรมทางหลวง โดยสำนักงานก่อสร้างทางที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 332 สาย แยกทางหลวงหมายเลข3 (แยกเจ) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 3 (แยกอู่ตะเภา) จังหวัดชลบุรี ระหว่าง กม. ที่ 0+000 – 14+487 รวมระยะทาง 14.47 กิโลเมตร แล้วเสร็จตลอดสาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพคมนาคมโลจิสติกส์ภาคตะวันออก รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล. โดยสำนักงานก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 332 สาย แยกทางหลวงหมายเลข3 (แยกเจ) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 3 (แยกอู่ตะเภา) จังหวัดชลบุรี ระหว่าง กม. ที่ 0+000 – 14+487 รวมระยะทาง 14.47 กิโลเมตร แล้วเสร็จตลอดสาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมโลจิสติกส์ ภาคตะวันออก ตามแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สำหรับทางหลวงหมายเลข 332 สายแยกทางหลวงหมายเลข 3 (แยกเจ) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 3 (แยกอู่ตะเภา) เป็นเส้นทางเชื่อมโยงตัวชุมชนถึงสถานที่สำคัญของจังหวัดชลบุรี ได้แก่ หน่วยงานราชการต่าง ๆ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา มีจุดเริ่มต้น กม. ที่ 0+000 บริเวณแยกเจ อำเภอสัตหีบ ถึงจุดสิ้นสุด กม. ที่ 14+487 บริเวณแยกอู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี รวมระยะทาง 14.47 กิโลเมตร เนื่องจากในปัจจุบันมีปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ทล. เล็งเห็นความสำคัญนี้ จึงดำเนินการก่อสร้างขยายเพิ่มช่องจราจรเดิมจาก 2 ช่องจราจร (ไป – กลับ) เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร(แบ่งทิศการจราจรฝั่งละ 2 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ผิวจราจรเป็นแอสฟัลท์คอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร พร้อมปรับปรุงเกาะกลาง ก่อสร้างสะพานข้ามแยกจำนวน 2 แห่ง คือ สะพานข้ามแยกเกษมพล ช่วง กม. ที่ 10+584 และสะพานข้ามแยกตลาดสระแก้ว ช่วง กม. ที่ 12+850 พร้อมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง ใช้งบประมาณ 797,566,000 บาท
เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่น ระบายรถจากจังหวัดชลบุรีสู่จังหวัดระยอง ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขยายโอกาสการค้าและการลงทุน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ตามนโยบายรัฐบาล