ทล.เดินหน้าขยายถนน 4 เลนสาย 4027 คืบหน้ากว่า 99% ยกระดับเครือข่ายคมนาคม -รองรับนักเดินทาง คาดแล้วเสร็จ ก.พ.65
กรมทางหลวงติดตามการดำเนินการก่อสร้างขยายถนน 4 เลน ทางหลวงสาย 4027 ตอนบ้านป่าคลอก – บ้านพารา จังหวัดภูเก็ต คืบหน้ากว่า 99% แล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 และตอนบ้านพารา – บ้านเมืองใหม่ จังหวัดภูเก็ต พร้อมตอกเสาเข็ม ปี พ.ศ.2568 เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคมและการพัฒนาเมือง รวมทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ติดตามและเร่งรัดให้ดำเนินโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด โดยขณะนี้ทางหลวงสาย 4027 ตอนบ้านป่าคลอก – บ้านพารา จังหวัดภูเก็ต คืบหน้ากว่า 99% แล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ส่วนตอนบ้านพารา – บ้านเมืองใหม่ จังหวัดภูเก็ต พร้อมตอกเสาเข็ม ปี พ.ศ.2568 เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคมและการพัฒนาเมือง รวมทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองที่สวยงามได้สมญานามไข่มุกแห่งอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีนักท่องเที่ยวมาเยือนจำนวนมาก สร้างรายได้ให้ภูเก็ตและประเทศไทยปีละหลายแสนล้าน รวมทั้งทางหลวงหมายเลข 402 สายโคกกลอย – เมืองภูเก็ต ที่เป็นทางหลวงสายหลักเพียงเส้นเดียวมีปริมาณจราจรใกล้เต็มความจุของถนนจึงต้องหาโครงข่ายทางหลวงมารองรับปริมาณจราจร
ภาครัฐจึงเห็นว่าทางหลวงหมายเลข 4027 สามารถรองรับปริมาณจราจรจากทางหลวงหมายเลข 402 ได้ รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าเรืออ่าวปอ ท่าเรือบางโรง และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยตามนโยบายของรัฐบาล
ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงผลักดันให้ขยายเส้นทางหลวงหมายเลข 4027 สายท่าเรือ – เมืองใหม่ พื้นที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร โดยที่ผ่านมากรมทางหลวง (ทล.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาทางหลวงสาย 4027 ตอนบ้านท่าเรือ – ป่าคลอก ระหว่าง กม. ที่ 0+000 – 5+900 ระยะทาง 5.9 กิโลเมตร แล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้ทางไปแล้ว โดยเหลือเพียง 2 ตอนคือ ตอนบ้านป่าคลอก – บ้านพารา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และตอนบ้านพารา – บ้านเมืองใหม่ อยู่ในขั้นตอนการสำรวจและออกแบบดังนี้
1.ตอนบ้านป่าคลอก – บ้านพารา ระยะทาง 8.4 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ กม. 5+900 สิ้นสุดที่ กม. 14+300 ได้รับงบประมาณก่อสร้างปี พ.ศ. 2562 วงเงิน 384.16 ล้านบาท ปัจจุบันสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้เร่งดำเนินก่อสร้างทางหลายช่วงดังกล่าว โดยก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร ผิวทางคอนกรีต ความกว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.5 เมตร ภายในเขตทาง 40 เมตร มีเกาะกลางเพื่อใช้เป็นจุดกลับรถทั้งหมด 5 แห่ง ระดับพื้น 2 แห่ง ใต้สะพาน 2 แห่ง และทางแยกสัญญาณไฟ 1 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง งบประมาณโครงการ 384,161,425 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 99.23 % คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
2. ตอนบ้านพารา – บ้านเมืองใหม่ ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่ กม. 14+000 และสิ้นสุดที่ กม. 20+800 โดยปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รูปแบบโครงการเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ผิวทางชนิดปอร์ตแลนด์คอนกรีต ความกว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร พร้อมไหล่ทางกว้างข้างละ 2.5 เมตร โดยช่วง กม. ที่ 14+000 – 15+700 มีเกาะกลางแบบยก (Raised Median) ส่วนช่วงบริเวณ กม. ที่ 15+700 – 18+895 ซึ่งเป็นช่วงนอกชุมชน เกาะกลางเป็นแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) ภายในเขตทาง 40 เมตร มีจุดกลับรถทั้งหมด 4 แห่ง โดยยกระดับก่อสร้างทางสายหลักขึ้นเป็นสะพานและให้กลับรถใต้สะพานทั้งหมด สำหรับช่วงปลายของโครงการจาก กม. ที่ 18+895 เป็นแนวเส้นทางตัดใหม่โดยเป็นสะพานข้ามป่าชายเลนไปบรรจบบริเวณสามแยกเดิมซึ่งเป็นจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับ 4026 โดยบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการได้ออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับ งบประมาณโครงการ 1,584.16 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จตลอดสาย 20.8 กิโลเมตร จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงภาคใต้หมายเลข 4027 ให้สมบูรณ์ตลอดเส้นทาง อีกทั้งยังช่วยรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางถนน ทางเรือ ทางอากาศไปสู่ย่านการค้าและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญช่วยส่งเสริมศักยภาพภาคขนส่งและการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ภาคใต้ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และกระจายความเจริญในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย