ทช. เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองปราจีนบุรี กว่า 25 กม. รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ คาดแล้วเสร็จต้นปี’67
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างถนน สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3452 – สี่แยกบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อรองรับ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรี ส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งสู่อินโดจีน ประเทศกัมพูชา รวมทั้งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในตัวเมืองปราจีนบุรี
อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งจาก อำเภอบ้านสร้าง อำเภอเมืองปราจีนบุรี ไปสู่อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอประจันตคาม ต้องขนส่งผ่านตัวเมือง และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นมากถึง 15,200 คันต่อวัน ก่อให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อาคารอนุรักษ์โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่เป็นโบราณสถานเกิดการทรุดตัวแตกร้าวทุกปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ให้สามารถเดินทางอย่างได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สนับสนุนการขนส่งสินค้าภายในจังหวัดปราจีนบุรีและระหว่างจังหวัด ตลอดจนสามารถใช้เป็นเส้นทางขนส่งเข้าสู่อินโดจีน ประเทศกัมพูชาได้อีกทางหนึ่ง ทช. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3452 – สี่แยก บ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อทดแทนเส้นทางเดิมที่ต้องผ่านตัวเมือง ผ่านโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้น กม. ที่ 0+000 บริเวณแยกทางหลวงชนบทสาย ปจ.4025 ใกล้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ถึง กม. ที่ 7+200 บริเวณช่วงแยกถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 319 ตำบลบางเดชะ ระยะทางรวม 7.200 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง และบริเวณทางแยกก่อสร้างเป็น ขนาด 4 ช่องจราจร ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบระบายน้ำในเขตชุมชน พร้อมก่อสร้างสะพานในสายทาง จำนวน 7 แห่ง ซึ่งเป็นสะพานขนาดใหญ่ 2 แห่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 899.999 ล้านบาท เป็นงบผูกพันปี พ.ศ.2564 – 2566
ตอนที่ 2 ต่อเนื่องจากตอนที่ 1 มีจุดเริ่มต้น กม. ที่ 7+200 – อำเภอบ้านสร้าง กม. ที่ 25+656 ระยะทาง 18.456 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง และบริเวณทางแยกก่อสร้างถนนขนาด 4 ช่องจราจร มีเกาะกลาง ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างในเขตชุมชน พร้อมก่อสร้างสะพานในสายทาง จำนวน 5 แห่ง ซึ่งเป็นสะพานขนาดใหญ่ 1 แห่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 900 ล้านบาท เป็นงบผูกพันปี พ.ศ. 2564- 2566
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้เริ่มเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงต้นปี พ.ศ. 2567