Friday, November 22, 2024
Latest:
Construction

รฟม. แถลงความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี และการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม แถลงความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)  

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม กล่าวถึงสำความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)  มีความคืบหน้า ดังนี้

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

1. รฟม. ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามประกาศดังกล่าว โดยติดประกาศ ณ ที่ทำการ รฟม. และเผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ www.mrta.co.th เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

2. รฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้ คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วยและเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหา

3. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เห็นชอบการนำแนวทาง การจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่นนอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง

และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ปราศจากข้อครหาในการดำเนินงาน รฟม. จึงได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เสนอคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตเพื่อพิจารณาบรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ส่วนการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับกรุงเทพมหานครฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการเข้าด้วยกัน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี พ.ศ. 2565 และเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2570

ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างการดำเนินงานการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยได้ประกาศร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) รวมทั้งได้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของ รฟม. และปิดประกาศ ณ สำนักงาน รฟม. ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2560 ข้อ 45 (2) แล้วตั้งแต่วันที่ 11-15 มิถุนายน พ.ศ.2564 และ รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนประกวดราคาฯ และขายเอกสารประกวดราคาฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2564 โดยปัจจุบันมีผู้ที่สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาฯ แล้วทั้งสิ้น 8 ราย โดยแบ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 ราย รวมทั้งสิ้น 8 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564) ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่ได้รายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบ พร้อมกันนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ โดย รฟม. ได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ความร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561 โดยการดำเนินการในทุกขั้นตอนของประกวดราคาฯ เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติ ครม. และประกาศที่เกี่ยวข้อง   ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการดำเนินงานที่รัฐจะได้รับโครงการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด คุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ในประเด็นการกำหนดให้ใช้ผลงานที่เป็นของหน่วยงานรัฐภายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว และประเด็นการกำหนดเกณฑ์ประเมินข้อเสนอในการประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในสัดส่วน 30:70 ซึ่ง รฟม. ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว ดังนี้

1. ประเด็นการกำหนดให้ใช้ผลงานที่เป็นของหน่วยงานรัฐภายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว การประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ผ่านมาของ รฟม. ได้ใช้วิธีประกวดราคานานาชาติภายใต้ข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ในขณะที่การประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ เป็นการประกวดราคานานาชาติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบกับการวินิจฉัยตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กวจ) 0405.3/24575 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 กรณีผลงานกับรัฐให้หมายถึงผลงานกับรัฐบาลไทย

สำหรับการกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทย เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯต้องมีการออกแบบก่อสร้างอุโมงค์และสถานีใต้ดินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสภาพธรณีวิทยาที่มีคุณสมบัติ เฉพาะสถานที่โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ และโบราณสถานต่างๆ มากมาย จึงต้องการผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ผ่านการก่อสร้างและประสานงานในโครงการก่อสร้างประเภทเดียวกันในประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าผลงานที่แล้วเสร็จ มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ในขณะที่การอ้างอิงผลงานต่างประเทศ จะตรวจสอบข้อมูลโครงการได้ยาก  ไม่ว่าจะเป็นประเภทงาน มูลค่าผลงานที่แท้จริง คุณภาพของผลงานที่แล้วเสร็จ รวมถึงประเด็นปัญหาระหว่างดำเนินการก่อสร้างและการที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้รับจ้างสามารถใช้ผลงานเอกชนที่ รฟม. เชื่อถือได้นั้น เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้า หรือโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่มีผลงานประเภทเดียวกันกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ในประเทศไทย มีหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของโครงการทั้งหมด ดังนั้น รฟม. จึงไม่ได้พิจารณาให้ใช้ผลงานจากหน่วยงานเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงการคลังฯ ที่กำหนดให้หน่วยงานพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมหรือจำเป็น

2. ประเด็นการกำหนดเกณฑ์ประเมินข้อเสนอในการประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในสัดส่วน 30:70 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีแนวเส้นทางผ่านสถานที่สำคัญและอ่อนไหวหลายแห่ง เช่น รัฐสภาแห่งใหม่ โรงพยาบาลวชิระ หอสมุดแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย วัดต่างๆ รวมถึงพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมในการออกแบบและก่อสร้างขั้นสูงจากผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และมีสมรรถนะสูงเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและสามารถดำเนินงานก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน

ดังนั้น การกำหนดเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประกวดราคา โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา มีจุดประสงค์เพื่อให้การดำเนินโครงการได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เพียงจุดประสงค์ทางด้านราคาที่ต่ำเพียงอย่างเดียว โดยจะต้องพิจารณาประกอบกับข้อเสนอด้านเทคนิคที่มีความเหมาะสมหรือดีที่สุดด้วย เป็นไปตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 65 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ข้อ 83 (2) ประกอบกับหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่ กค(กวจ)0405.2/ว198 เรื่องแนวทางการปฏิบัติในการจัดทำร่างขอบเขตของงาน กรณีหน่วยงานของรัฐกำหนดเกณฑ์การพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่นเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีศักยภาพสูงเพียงพอและมีความเหมาะสมที่จะสามารถดำเนินงานโครงได้สำเร็จตามแผนงานและมีคุณภาพภายใต้กรอบงบประมาณที่กำหนดไว้

ตัวอย่างโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐหลายโครงการที่ใช้เกณฑ์การคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา เช่น โครงการงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารภายในสนามบินสุวรรณภูมิ งานจ้างปรับปรุงระบบตรวจสอบวัตถุระเบิด และงานจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระในโครงการพัฒนา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงในโครงการร่วมลงทุนสาธารณูปโภคของภาครัฐขนาดใหญ่ เช่น โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (โครงการทางด่วนสายแจ้งวัฒนะ – บางพูน – บางไทร) โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอย โดยระบบเตาเผามูลฝอย  ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมของกรุงเทพมหานครซึ่งใช้เกณฑ์คะแนนรวมด้านเทคนิคกับผลตอบแทนด้านการเงิน รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ก็ใช้เกณฑ์การประเมินคะแนนรวมด้านเทคนิคกับด้านผลตอบแทนเช่นกัน

“รฟม. ขอเรียนว่าการดำเนินการในทุกขั้นตอนของ รฟม. เป็นไปด้วยความละเอียด ถี่ถ้วน สอดคล้องตามกฎเกณฑ์ กฎ ระเบียบ มติ ครม. และประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการดำเนินงานที่รัฐจะได้รับโครงการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ” ผู้ว่าการ รฟม.  กล่าว