Sunday, November 24, 2024
Latest:
News

สภาวิศวกรชู 6 แนวทางเสนอรัฐแก้ปัญหาระเบิดและเพลิงไหม้ระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมนำวิศวกรอาสาลงพื้นที่ทันทีที่ปลอดภัย

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งผลิตเม็ดโฟมและเม็ดพลาสติก ในพื้นที่ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เวลาประมาณ 03.30 น. ซึ่งพบว่าเกิดเพลิงไหม้ตัวอาคารโรงงานอย่างรุนแรง และมีเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะ ด้วยขนาดของโรงงานที่มีสารเคมีกว่า 2,000 ตัน จึงก่อให้เกิดกลุ่มควันพุ่งสูงต่อเนื่องนานนับกว่า 25 ชั่วโมงและยังไม่มีท่าทีจะสงบลง แรงอัดทำให้บ้านเรือนและโรงงานที่อยู่โดยรอบข้างรัศมีประมาณ 500 เมตร ได้รับความเสียหายจำนวนมากนั้น

ทั้งนี้ วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก คือ สไตรีนมอนอเมอร์ (Styrene Monomer) เป็นของเหลวไฮโดรคาร์บอนประเภทสารอะโรมาติก ที่อุณหภูมิสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส สามารถติดไฟได้ง่าย จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์อะโรมาติกที่ระเหยง่าย เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงหรือเปราะบางอย่าง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทางเดินหายใจ ดังนั้น หากถูกเผาไหม้จะเกิดควันดำหนาแน่นกว่าสารอินทรีย์ทั่วไป สำหรับการรั่วไหลปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต

สภาวิศวกร ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลควบคุม ส่งเสริมและสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดกรณีภัยพิบัติ เหตุเพลิงไม้ อุบัติภัย ที่เกี่ยวข้องกับทางวิศวกรรมด้วยหลักการทางวิศวกรรมที่ถูกต้องเพื่อลดความสูญเสีย รวมทั้งให้คำแนะนำและพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้กับภาครัฐ ภายใต้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านงานวิศวกรรมในหลากมิติ ได้ระดมความเห็นจากวิศวกรผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ทั้งวิศวกรรมโยธาและผังเมือง วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมร่วมกันเสนอ 6  ข้อเสนอแนวทางแก่ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว กรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงได้ในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากกรณีเกิดเหตุระเบิดเพลิงไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผลิตเม็ดโฟมและเม็ดพลาสติก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เวลาประมาณ 03.30 น. ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศโดยรอบ   สภาวิศวกร จึงได้ระดมความเห็นจากวิศวกรผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ทั้งวิศวกรรมโยธาและผังเมือง วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ยื่น 6  ข้อเสนอแก่ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว กรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงได้ในอนาคต โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเหตุต่อเนื่อง เพราะถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถควบคุมเหตุการณ์ดังกล่าวได้ แต่พื้นที่เกิดเหตุยังเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพราะเหตุจากอุบัติภัยของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งได้ส่งผลกระทบก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศโดยรอบ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเฝ้าระวังสาธารณภัยด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

2.ต้องติดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศ หลังเกิดเหตุต้องรายงานคุณภาพอากาศและปริมาณสารพิษโดยละเอียด ทั้งค่าฝุ่น PM2.5 PM 10 ค่าไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงความเสี่ยงอันตรายของสารพิษตกค้างในพื้นที่ ตลอดจนเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. ได้ทำการพัฒนาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อม  Big Data ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขยายผลเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต

3.ต้องจัดทำบัญชีฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นปัจจุบันอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการใช้พื้นที่ทับซ้อนระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในลักษณะนี้ เป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่สีแดง มีการถือครองสารเคมีอันตรายร้ายแรงในปริมาณมาก ซึ่งมีโอกาสเกิดอันตรายต่อประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น หากมีฐานข้อมูลดังกล่าว จะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ตลอดจนการวางแผนอพยพประชาชนได้อย่างทันท่วงที

4.ต้องมีผังโครงสร้างโรงงานโดยละเอียด การมีผังอาคารโรงงานในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบถึงข้อมูลของโรงงานโดยละเอียด ทั้งโครงสร้างอาคาร เส้นทางภายในโรงงาน ระบบการวางท่อ บริเวณจัดเก็บสารเคมีอันตรายร้ายแรง ฯลฯ และสามารถนำมาใช้ในการประเมินสถานการณ์ เตรียมการลงพื้นที่ในการระงับเหตุหรือบรรเทาความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตของทีมนักผจญเพลิง รวมถึงทรัพย์สินของผู้ประกอบการ

5.ต้องมีนโยบายบริหารจัดการให้กับโรงงานอย่างเป็นธรรม สำหรับเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ในต่างประเทศมีการจัดวาระประชุมเฉพาะ เพื่อหารือเรื่องการวางนโยบายแก้ไขปัญหาการจัดสรรพื้นที่ระหว่างโรงงานและชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สามารถใช้ทั้งมาตรการผลักดันและส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมย้ายออกจากพื้นที่ชุมชน แต่รัฐจำเป็นต้องมีข้อเสนอต่อโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเป็นธรรม เช่น การลดภาษีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในกรณีที่มีการซื้อ-ขาย ฯลฯ หากโรงงานอุตสาหกรรมยังคงต้องการอยู่ในพื้นที่ชุมชน  ก็ต้องพร้อมรับกับกฎเกณฑ์ในการกำกับการประกอบอุตสาหกรรมของภาครัฐ

6.จัดอบรมให้ความรู้นักผจญเพลิง จากกรณีที่มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ตอกย้ำเรื่องมาตรฐานการควบคุมเพลิงได้เป็นอย่างดี นักผจญเพลิงจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสารเคมีอย่างถูกต้อง ดังนั้น สภาวิศวกรเห็นควรจัดอบรมแก่นักผจญเพลิงทั้งในระดับท้องถิ่นและผู้สนใจให้เรียนรู้ถึงหลักการดับเพลิงที่ถูกต้อง และเข้าใจถึงอันตรายและความรุนแรงของสารเคมีต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

“ในอนาคตหากสถานการณ์ในพื้นที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สภาวิศวกร พร้อมด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กรมโยธาธิการและผังเมือง สังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึงวิศวกรอาสา เตรียมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์เชิงโครงสร้างตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ และให้ความรู้ด้านความปลอดภัยของอาคารที่พักอาศัยแก่ภาคประชาชนเป็นลำดับต่อไป  ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

กรณีที่ภาคประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงสร้างบ้านที่เสี่ยงอันตราย สามารถติดต่อสายด่วน สภาวิศวกร 1303 เพื่อขอข้อแนะนำในการตรวจสอบด้วยตนเองเบื้องต้น