นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยชี้ผลกระทบของการระเบิดต่อความเสียหายของโครงสร้าง – แนวทางตรวจสอบอาคาร
จากเหตุการณ์ เพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใน ซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ก่อนจะระเบิดครั้งใหญ่ ในช่วงเวลา 03.00 น. เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 ทำให้โครงสร้างอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากแรงดันที่เกิดจากการระเบิดสร้างคลื่นระเบิดกระแทกกับโครงสร้างในบริเวณใกล้เคียง
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย กล่าวว่าปัจจัยที่กำหนดความเสียหายของอาคารบ้านเรือนขึ้นอยู่กับ 1. ความรุนแรงของการระเบิด และ 2. ระยะทางจากจุดศูนย์กลางของการระเบิด ซึ่งหากเกิดระเบิดที่รุนแรงมาก ก็จะสร้างแรงดันมาก และทำลายอาคารบ้านในรัศมีที่อยู่ใกล้เคียงได้มากกว่า โดยที่แรงดันจะลดลงอย่างรวดเร็วตามระยะทางที่ห่างออกมา
สำหรับผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือน แบ่งเป็น 1. ผลกระทบต่อองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของอาคาร เช่น ฝ้าเพดาน ผนังอิฐก่อ กระจกหน้าต่าง ประตู และ 2. ผลกระทบต่อระบบโครงสร้าง โดยโครงสร้างที่จะได้รับผลกระทบได้แก่ เสา คาน พื้น โดยระบบทางสถาปัตยกรรมและระบบโครงสร้างที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แกชิ้นส่วนที่มีพื้นที่รับแรงปะทะมาก เช่น ผนัง พื้น เป็นต้น ทั้งนี้ระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคารขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอาคารว่าอยู่ใกล้หรือไกลจากจุดระเบิดมากน้อยเพียงใด โดยที่เบื้องต้นคาดการณ์ว่าภายในรัศมี 300 เมตร อาคารอาจจะได้รับความเสียหายได้ทั้งระบบสถาปัตยกรรมและระบบโครงสร้าง แต่เมื่อระยะห่างออกมาในรัศมี 1 กิโลเมตร ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบโครงสร้างจะลดลง แต่ก็ยังเกิดความเสียหายกับระบบสถาปัตยกรรมของอาคารได้ทั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน จะต้องรอผลการสำรวจความเสียหายอีกที
สำหรับความเสียหายในระบบสถาปัตยกรรมนั้น นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย กล่าวว่า ไม่น่ากระทบต่อความมั่นคงของโครงสร้าง สามารถซ่อมแซมได้ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างที่อยู่ในระยะใกล้จุดเกิดเหตุ อาจทำให้โครงสร้างอยู่ในสภาวะไม่แข็งแรง ทั้งนี้จึงควรตรวจสอบเป็นเบื้องต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสาอาคารซึ่งเป็นชิ้นส่วนรับน้ำหนักที่สำคัญที่สุดของอาคาร คือจุดที่ต้องตรวจสอบก่อน หากตรวจพบรอยร้าวขนาดใหญ่ มีร่องรอยปูนกะเทาะหลุดจนเห็นเหล็กเสริมด้านใน หรือเสาเอียงโย้ตัวไม่เป็นแนวตรงดิ่งเช่นเดิมก่อนระบบ อาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างได้ จะต้องปรึกษาวิศวกรโครงสร้างโดยด่วน นอกจากนี้ ควรตรวจสอบ คานและพื้นว่าพบรอยร้าวหรือมีร่องรอยปูนกะเทาะหลุดออกมาหรือไม่
ทั้งนี้ ประชาชนควรต้องตรวจสอบความเสียหายของอาคารเป็นเบื้องต้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานอาทิ มูลนิธินายช่างไทยใจอาสา จะร่วมกับสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย ในการระดมวิศวกรเข้าช่วยเหลือตรวจสอบอาคาร เพื่อระบุขอบเขตความเสียหายของโครงสร้างและให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าของอาคารต่อไป