คุณลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคม TCA คนที่ 20
“กับภารกิจที่ท้าทายทั้ง COVID-19 และราคาเหล็กปรับสูงขึ้น”
เมื่อพูดถึงผู้หญิงในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความโดดเด่น และทำงานคร่ำหวอดในวงการก่อสร้างมาอย่างยาวนาน ชื่อของ “คุณลิซ่า งามตระกูลพานิช” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะกรรมการในองค์กรวิชาชีพต่างๆ มากมาย ทั้งกรรมการสมาคมวิศวกรหญิงไทย เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมการก่อสร้างแห่งอาเซียน และกรรมการบริหารสมาพันธ์ผู้ประกอบการก่อสร้างภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกฝั่งตะวันตก (IFAWPCA) และได้รับรางวัลASEAN Outstanding Engineering Achievement – Contribution Award จาก ASEAN Federation of Engineering Organization (AFEO)
คุณลิซ่า จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก Tufts University รัฐ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ มหาบัณฑิต Master of Project Management จาก Northwestern University รัฐ Illinois ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโท การจัดการภาครัฐและเอกชนมหาบัณฑิต (รอ.ม.) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 คุณลิซ่า งามตระกูลพานิช ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (THAI CONTRACTORS ASSOCIATION UNDER H.M. THE KING’S PATRONAGE :TCA) วาระปี พ.ศ.2564-2566 นับเป็นนายกสมาคมฯ คนที่ 20 หลังจากดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมฯ เป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้คุณลิซ่า มีความรู้และเข้าใจสถานการณ์ในแง่มุมต่างๆ ของอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยเป็นอย่างดี
ใช้เทคโนโลยีสร้างขีดความสามารถในการพัฒนา และแข่งขันของผู้ประกอบการก่อสร้างไทย
คุณลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) กล่าวถึง การเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ว่า ได้วางวิสัยทัศน์ในการทำงาน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาและแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย โดยใช้เทคโนโลยี และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้ง Value Chain โดยคํานึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณชน สังคม ประเทศชาติและผลักดันให้ธุรกิจก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ในส่วนของพันธกิจหลัก คือ การร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งให้ข้อมูล ศึกษามาตรการ เสนอนโยบายและ ระเบียบกฎหมายต่าง ๆเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการก่อสร้างสามารถดำเนินธุรกิจและเติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นธรรม ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทาทุกข์แก้ไขปัญหาและข้อร้องเรียนของสมาชิกอย่างเร่งด่วน
พร้อมกันนี้จะประสานงานกับหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการ พัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการก่อสร้าง เช่น ด้านเทคโนโลยี การบริหารงานก่อสร้าง ด้านกฎหมาย และจัดให้มีการเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความรู้ และจรรยาบรรณของวิชาชีพทั้งต่อ สมาชิก และสาธารณชน เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้าง จัดให้มีกิจกรรมเพื่อเป็นประโยชน์สร้างความสามัคคี และสื่อสารข้อมูลที่ดีระหว่างสมาชิก จัดกิจกรรม ร่วมมือ ส่งเสริมภารกิจอันมีประโยชน์ต่อสาธารณชน สังคม และส่วนรวม และผลักดันให้ธุรกิจก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและผลักดันให้เกิดสภาก่อสร้าง เพื่อยกระดับมาตรฐานการทํางาน และพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไป
ภารกิจแรกของนายกสมาคม TCA คนที่ 20 เร่งแก้ไขปัญหา COVID-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้าง
สำหรับภารกิจแรกของคุณลิซ่า ในตำแหน่งนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ การเร่งแก้ไขปัญหา COVID-19 ที่เกิดขึ้นในแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ท้าทายความสามารถเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิกฤต COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานในวงการก่อสร้าง ตั้งแต่ระลอกแรก ระลอก 2 และล่าสุดระลอก 3 ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้าง สมาคมฯ จึงได้ประกาศเพิ่มเติมที่ 0046/2564 ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เพื่อขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมฉบับนี้ เพื่อป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1.ขอความร่วมมือการดูแลและบริหารจัดการเขตก่อสร้างและที่พักคนงาน ให้คํานึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยปฏิบัติตามข้อแนะนําการดูแลและบริหารจัดการเขตก่อสร้างและที่พักคนงาน 2.จัดให้มีจุดคัดกรองบริเวณเขตก่อสร้างและที่พักคนงาน จัดให้มีแม่บ้านดูแลทําความสะอาดและฆ่าเชื้อในบริเวณจุดที่มีความเสี่ยง เช่น พื้นที่ส่วนกลาง ห้องนํ้า และห้องพักของคนงาน โดยจัดให้มีการพ่นนํ้ายาฆ่าเชื้อ และทําความสะอาดตามรอบระยะเวลาให้มีความถี่มากกว่าช่วงเวลาปกติ รวมทั้งให้ทุกคนปฏิบัติตามคําแนะนําของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้งที่กลับเข้าหน่วยงาน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างปฏิบัติงาน วัดอุณหภูมิก่อนเข้าหน่วยงาน สวมถุงมือ เว้นระยะห่างการสนทนา หรือพบปะ 1 – 2 เมตร ส่วนบุคลากรแรงงานก่อสร้างที่ออกจากหน่วยงานไปติดต่อบุคคลภายนอกให้ดูแลตัวเองอย่าง เคร่งครัด โดยจํากัดการติดต่อกับ บุคคลภายนอก หรือให้มีการติดต่อน้อยที่สุด และ 3. การดูแลและบริหารจัดการเขตก่อสร้างและที่พักคนงาน โดยกําหนดแบ่งพื้นที่ Quarantine เพื่อรองรับการกักตัวกรณีตรวจพบบุคลากร/แรงงานก่อสร้างเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง และจะต้องจัดให้มีพื้นที่พักอาศัยและสาธารณูปโภคแยกออกจากส่วนรวม
พร้อมกันนี้ สมาคมฯ ได้จัด “ศูนย์สมาคมก่อสร้างร่วมต้านโควิด” เพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับ ผู้ประกอบการก่อสร้าง เพื่อแจ้งความต้องการในการตรวจ ค้นหาผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ COVID-19 เชิงรุก (Active Case Finding หรือ ACF) รวมทั้งการจัดหาวัคซีนอย่าง เร่งด่วน และความช่วยเหลืออื่นๆ ที่จําเป็น โดยเบื้องต้นทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ได้ประสานไปยังกระทรวงแรงงานในการขอความอนุเคราะห์จัดหาวัคซีนมาฉีดแก่แรงงานก่อสร้างเพื่อป้องกัน COVID-19 โดยเร็ว
“ขณะที่ภาครัฐได้ให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) ในหลายๆหน่วยงาน แต่อุตสาหกรรมก่อสร้างไม่สามารถหยุดก่อสร้าง เพราะหากหยุดก่อสร้างจะทำไม่สามารถส่งรับมอบงานได้ตามกำหนดสัญญาว่าจ้าง ซึ่งจะมีผลทำให้ถูกปรับเงินตามสัญญาว่าจ้างที่ระบุทั้งงานภาครัฐและงานเอกชน จึงต้องวางมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด โดยใม่ให้กระทบการดำเนินงานก่อสร้าง”
เสนอรัฐยกเลิกส่วนต่างค่าปรับราคา (ค่า K) โดยด่วน แก้ปัญหาเหล็กปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันมีอีกหนึ่งภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการไม่แพ้กัน เนื่องจากส่งกระทบผลต่อผู้ประกอบการในวงการก่อสร้างเป็นอย่างมาก คือ เหล็กปรับราคาสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน รวม 5 เดือน ราคาเหล็กหลายประเภทได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 50-75% เนื่องจากประเทศจีนปิดโรงงานผลิตเหล็กจำนวนมาก เพราะมีปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จีนจึงกว้านซื้อเหล็กในตลาดโลกจำนวนมากเพื่อนำไปใช้งาน ดีมานด์ของเหล็กทั่วโลกจึงมีมากขึ้น ในขณะที่ทั่วโลกยังขาดแคลน ไม่สามารถที่หาเหล็กได้ทัน ทำให้ราคาและแนวโน้มจะสูงยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการก่อสร้างทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทำให้ผู้ประกอบการในแต่ละโครงการต้องแบกภาระต้นทุนรวมที่สูงขึ้น 15-30 % ขึ้นอยู่กับว่าโครงการนั้นๆจะใช้เหล็กประเภทใด และใช้เหล็กมากน้อยแค่ไหน
นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ธุรกิจก่อสร้างยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี อีกทั้งความต้องการเหล็กเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาเหล็กจึงยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมูลค่างานก่อสร้างทั้งหมดของไทย คิดเป็น 8-9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อีกทั้งภาคการก่อสร้างมีการจ้างงานแรงงานกว่า 3,000,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ประชาชน ภาควัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และการขนส่ง
เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น สมาคมฯ จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ 1.มาตรการเร่งด่วน พิจารณายกเลิกส่วนต่างค่าปรับราคา (ค่า K) ± 4% จากสูตรการคํานวณค่าปรับราคา เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2564 – ธันวาคม พ.ศ. 2565 กับโครงการที่ยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ และโครงการที่จะดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวได้เคยถูกพิจารณาโดยมติคณะรัฐมนตรีมาแล้ว เมื่อราคาวัสดุก่อสร้างในปี พ.ศ.2551 มีความผันผวนอย่างมาก และขอให้พิจารณาใช้ฐานดัชนีราคาในเดือนที่คิดราคากลางในการคํานวณค่า K แทนการใช้ดัชนีราคาในเดือนที่เปิดซองประกวดราคา เพื่อให้สะท้อนฐานดัชนีราคาที่ใช้ในการคิด รวมทั้งพิจารณาเร่งรัดการเบิกเงินชดเชยค่า K ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ยื่นขอเบิกจ่ายเงินชดเชย พิจารณาการคิดราคากลางให้สะท้อนกับราคาเหล็กเสริมคอนกรีตที่แท้จริงในท้องตลาด โดยใช้ราคาไม่เกิน 30 วันก่อนประกาศประกวดราคา และ2.มาตรการระยะยาว ขอให้ภาครัฐพิจารณาเร่งรัดให้มีการปรับสูตรการคํานวณค่า K ให้สะท้อนโครงสร้างต้นทุนที่เป็นธรรมและ ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด รวมทั้งให้ภาครัฐช่วยเหลือ การหางบประมาณ หาเงินแหล่งกู้ราคาพิเศษจากธนาคารของรัฐมาช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้าง
“โดยทั่วไปผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบ 4 % แรก ยกตัวอย่างเช่น ค่า K แรก ออกมา 5 % เราไปขอภาครัฐได้แค่ 1 % สิ่งที่เราขอไป คือขอ ให้ 4 %นี้ ภาครัฐช่วยรับผิดชอบทั้งหมดได้มั้ย คือถ้าเป็น 5% ให้ภาครัฐจ่ายคืนเราให้ทั้งหมด ในส่วนของราคากลางนั้นให้คิดหลังจากที่คิดราคากลางแล้ว ในการเปิดซอง เพราะจะได้ไม่ต้องคิดค่าเหล็ก
“ ราคาเหล็กที่พุ่งสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้เกี่ยวข้องกับวัสดุที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบในการนำมาใช้ในงานก่อสร้างขึ้นราคาสูงตามไปด้วย เช่น ประตู หน้าต่าง สายไฟและอื่นๆ หากลดสเปคของวัสดุจะทำให้การตรวจรับงานไม่ผ่าน โดยเฉพาะโครงการภาครัฐ นับจากนี้ราคาเหล็กจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก 2 ปี สำหรับผู้รับเหมาที่ไม่แบกรับภาระต้นทุนเหล็กที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด หากไม่สามารถส่งมอบงานให้ทันตามที่กำหนด จะต้องจ่ายค่าปรับ อาจทำให้ผู้รับเหมาทิ้งงาน และถูกขึ้น Blacklist ได้”
วอนรัฐให้สมาคมฯ มีบทบาทในคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขกม. ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ตรงจุด
สำหรับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่นำมาใช้นั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการก่อสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ประกาศบังคับใช้ หากจะมีการแก้ไขก็คงจะยาก แต่หากมีการแก้ไขจริงนั้น ทางสมาคมฯ อยากให้เสนอภาครัฐพิจารณาให้สมาคมฯ ได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายต่าง ๆด้วย เนื่องจากปัจจุบันคณะกรรมการที่เข้าไปนั่งพิจารณาข้อกฎหมายต่าง ๆนั้นไม่ได้เป็นผู้ประกอบการก่อสร้างโดยตรง อาจจะแก้ปัญหาหรือแก้ไขข้อกฎหมายต่าง ๆไม่ตรงจุดและตอบโจทย์ผู้ประกอบการก่อสร้างอย่างแท้จริง
“อย่ามองว่าสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เป็นสมาคมของผู้ประกอบการก่อสร้างที่ตั้งมาเพื่อผู้ประกอบการก่อสร้างเท่านั้น ที่ผ่านมาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ได้ดำเนินการทำงานร่วมกับหลากหลายองค์กรรวมทั้งสถาบันการศึกษา เช่น การวิจัยเรื่องค่า K เป็นต้น”
นอกจากนี้ สมาคมฯ มีความร่วมมืออันดีกับทุก ๆ สภาวิชาชีพ ทั้งสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดยมีการพูดคุยหารือปรึกษาการทำงาน และแก้ปัญหาต่าง ๆร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการจัดตั้งไลน์กลุ่มของนายกสมาคมฯ เลขาสมาคมฯ และอนุกรรมการของสมาคมฯ เมื่อมีปัญหาหรือเกิดผลกระทบกับเหล่าสมาชิและ สังคม จะได้เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้คลี่คลายโดยเร็ว ที่สำคัญจะช่วยยกระดับมาตรฐานการประกอบอาชีพก่อสร้างไทย
เดินหน้าผลักดันการจัดตั้ง “สภาก่อสร้าง” ควบคุมผู้รับเหมาเทงาน -ยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้าง
นอกจาก 2 เรื่องสำคัญเร่งด่วน ยังมีอีกเรื่องสำคัญที่ คุณลิซ่า ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงที่รับตำแหน่งนายกสมาคมฯ คือ การจัดตั้ง “สภาก่อสร้าง” ซึ่งได้ริเริ่มแนวคิดตั้งแต่ 16-17 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการที่สมาชิกผู้ประกอบการก่อสร้างจะได้มีกฎระเบียบในการควบคุมดูแลผู้ประกอบการก่อสร้างภายในประเทศและต่างประเทศที่จะเข้ามาดำเนินงานก่อสร้างในประเทศไทยให้อยู่ภายใต้องค์กรกลาง ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการก่อสร้าง พร้อมกันนี้จะได้จัดกิจกรรมต่าง ๆที่เป็นประโยชน์ด้านการก่อสร้างแก่สมาชิก เช่น การจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้เรื่องการต่อใบอนุญาตวิชาชีพการก่อสร้าง การอบรมให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างและอื่น ๆ เป็นต้น
“รูปแบบการจัดตั้งสภาก่อสร้างจะคล้ายๆกับสภาวิชาชีพต่าง ๆ ในไทย แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่มีสภาก่อสร้าง ผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจก่อสร้างในไทย เพียงแค่ไปขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ก็สามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจก่อสร้างได้แล้ว แต่เมื่อเกิดปัญหาการละทิ้งงานขึ้นก็จะเป็นการยากในการติดตามผู้ประกอบการต่างชาติมารับผิดชอบงาน เพื่อชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆที่เกิดขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งควบคุมจรรยาบรรณวิชาชีพในการทำงานได้คงจะกระทำได้เพียงขึ้น Blacklist ผู้ประกอบการและบริษัทเท่านั้น”
คุณลิซ่า กล่าวย้ำว่า เมื่อไม่มีสภาก่อสร้าง เมื่อมีภาครัฐออกกฎหมายบังคับใช้ก็จะไม่ตอบโจทย์งานก่อสร้าง เนื่องจากขาดผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจสะท้อนปัญหาที่ผู้ประกอบการก่อสร้างประสบปัญหามาโดยตลอดได้อย่างแท้จริงในการเข้าไปนั่งในการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีคณะกรรมการ 5 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการวินิจฉัย คณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการจัดทำเรื่องราคากลาง และคณะกรรมการจัดทำผู้ลงทะเบียนการก่อสร้าง แต่ไม่มีตัวแทนจากสมาคมฯ เข้าไปร่วมอยู่ในคณะทำงานเลย จะมีเพียงที่นั่งในอนุกรรมการในบางคณะเท่านั้น เนื่องจาก สมาคมฯ ไม่มีกฎหมายรองรับในการเป็นสภาวิชาชีพ
“ที่สำคัญ เราต้องการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างขึ้นมา ไม่อยากให้ผู้ประกอบการก่อสร้างถูกมองจากสังคมว่าเป็นผู้ร้ายตลอดเวลา เมื่อเกิดปัญหาก่อสร้างขึ้น ทั้งปัญหาการละทิ้งงาน การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างต่าง สมาคมฯ ไม่มีอำนาขเข้าไปช่วยเหลือและจัดการ ซึ่งในอดีตสมาคมฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลายกระทรวงมา เช่น กระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันมีการปรับโครงสร้างการดูแลจากทางรัฐบาลในหลายๆสมัยที่ผ่านมาอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม แต่จริง ๆแล้วสมาคมฯ มีความประสงค์และหวังว่าในอนาคตจะได้อยู่ภายใต้สังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลโดยตรง เพื่อที่สำนักนายกรัฐมนตรีจะได้แก้ไขปัญหางานก่อสร้างที่สั่งสมมานานให้คลี่คลายได้ในที่สุด”
ภาพรวมอุตฯ ก่อสร้างไทยปี’64 เผชิญศึก 2 ด้าน หวังวัคซีนช่วยคลี่คลายสถานการณ์
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปี พ.ศ.2564 คุณลิซ่า มองว่า การก่อสร้างในปีนี้จะเหนื่อยทั้งจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่ยุติ ต้องมีการประเมินสถานการณ์วันต่อวันในระลอกที่ 3 เนื่องจากมีการติดสู่คนงานในแคมป์ก่อสร้าง แต่ในช่วงระลอกที่ 1 และ2 ไม่ปรากฏว่ามีคนงานก่อสร้างติดเชื้อ COVID-19 แต่อย่างใด และจะต้องประเมินอีกว่าสายพันธุ์อินเดียที่เข้ามาในประเทศไทยว่าจะส่งผลให้เกิดระลอกที่ 4 ด้วยหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดหาวัคซีนจากภาครัฐได้ตามเวลาที่ระบุและมีความชัดเจนในการกระจายวัคซีนให้รวดเร็วขึ้นน่าจะช่วยให้สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย
“จริง ๆแล้วภาคเอกชนเขาได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว งานเอกชน นี่คือ ลบเลย คือกำลังซื้อลดลงเลย งานก่อสร้างภาครัฐเริ่มมากระทบหนักในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราพยายามที่จะประคับประคองอยู่ ตั้งแต่ธันวาคมที่ผ่านมาเริ่มหนักหน่วงขึ้น ก่อนที่ขยายสัญญา ไม่ยอมให้ขยาย ระเบียบแนวทางที่ออกมา มีใครนำไปปฏิบัติ เริ่มจะมีการทิ้งงาน มากขึ้น อันนี้เหมือนเขาไม่ไหว ก็ต้องทิ้งงาน และก็โดน Blacklist ไป”
ทั้งนี้ ภายหลังสถานการณ์ COVID-19 เชื่อว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยจะต้องใช้เวลาในการกลับคืนสู่ภาวะปกติ เช่น การจัดการแรงงานที่หายไปในภาคการก่อสร้าง ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่กลับไปในช่วงเกิดสถานการณ์ COVID-19 การจัดการเรื่องแคมป์คนงาน การส่งคนงานข้ามเขต นับจากนี้ต้องมีการทำการขออนุญาต การขนส่งแรงงานจะต้องลดลง รถ 6 ล้อ สามารถขนส่งได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียเวลา และเสียเงินว่าจ้างขนส่งแรงงานเพิ่มขึ้น
จับตาโดรน -AR ตอบโจทย์งานก่อสร้างช่วง COVID-19
การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในงานก่อสร้างเพื่อลดต้นทุนการผลิต และทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น คุณลิซ่า มองว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) มาใช้บ้างแล้วในบาง Site งานก่อสร้างในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากเทคโนโลยี BIM ช่วยให้ให้ผู้ประกอบการมองภาพการก่อสร้างชัดขึ้น แต่เทคโนโลยี BIM ไม่ได้ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลง เช่น เหล็กหรือต้นทุนการบริการ แต่เทคโนโลยี BIM ช่วยลดการสูญเสียให้การก่อสร้าง ร่นระยะเวลาในการทำงานในหลายๆส่วนให้น้อยลง ซึ่งมีแผนที่จะทยอยนำมาใช้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก่อสร้างรายเล็ก ๆ ยังเข้าถึงเทคโนโลยี BIM ค่อนข้างน้อยและต้องลงทุนในการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ในเรื่องนี้ ซึ่งมีจำนวนน้อย เมื่อได้รับการฝึกอบรมก็อาจถูกซื้อตัวไปได้ ทั้งนี้ ภาคการศึกษาควรเปิดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี BIM และฝึกอบรมมากขึ้น เพื่อจะได้สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าใจเทคโนโลยี BIM มากขึ้น
ส่วนเทคโนโลยีอื่น ๆที่นำมาใช้ใน Site งานก่อสร้าง ใน Site งานเอกชนมีการนำเทคโนโลยี “โดรน” มาช่วยเก็บภาพมุมสูงของตึกสูง ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างกว้าง เพื่อสำรวจภาพการก่อสร้างใน Site งาน และควบคุมดูงานในมุมสูงได้ละเอียดและรอบด้านมากขึ้นในจุดเสี่ยงที่คนงานก่อสร้างเข้าไม่ถึง ที่สำคัญในช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 การใช้โดรนเข้าควบคุมงานจะช่วยลดจำนวนคนในการเข้าออก Site งาน ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อได้อีกทางหนึ่งด้วย
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในงานก่อสร้าง คือ AR (Augmented Reality) ซึ่งให้ผู้ควบคุมงานสวมหมวก AR เข้าไปตรวจพื้นที่งานตามตำแหน่งงานและพิกัดจริงจะได้ภาพเสมือนจริงในการควบคุมการทำงาน โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดจำนวนเข้าออกของพื้นที่ไซต์งานก่อสร้าง เป็นต้น
คุณลิซ่า กล่าวทิ้งท้ายว่าในอนาคต สมาคมฯ จะเร่งให้ความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ แก่สมาชิก เพื่อพัฒนางานก่อสร้างอย่างเต็มที่ ซึ่งได้วางแผนงานไว้ว่าจะจัดสัมมนา รวมทั้งโรดโชว์ในแต่ละภาคทั่วประเทศให้ได้อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง เพื่อยกระดับมาตรฐานวงการก่อสร้างไทยให้มีคุณภาพในระดับสากล
เร่งสร้างแรงจูงใจให้ ผู้ประกอบการรายย่อย สมัครเป็นสมาชิก TCA มากขึ้น
ปัจจุบันสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) มีจำนวนสมาชิก 600 บริษัท โดยคิดค่าสมาชิกเป็นรายปี ปีละ 2,000 บาท ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่คิดเป็นมูลค่ากว่า 90% ของมูลค่าการก่อสร้างของประเทศไทยทั้งหมด ส่วนรายย่อยนั้นมีน้อยมาก แต่จะพยายามเร่งกระตุ้นและสร้างจูงใจให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาเป็นสมาชิกมากที่สุด เพื่อเป็นแรงผลักดัน ที่จะทำให้เกิดสภาการก่อสร้าง ซึ่งจะเข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมการในการกำหนดนโยบายด้านการก่อสร้างของภาครัฐ เพื่อสะท้อนปัญหา อุปสรรคที่แท้จริงเหมือนกับองค์กรวิชาชีพอื่น ๆ เช่นสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร เป็นต้น